Sunday, December 2, 2012

ติมอร์ฯ กับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน



เมื่อกล่าวถึงสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน  ทุกชั้นเรียนก็จะระบุถึงประเทศสมาชิก 10 ประเทศ  แต่ในอนาคตอันใกล้  อาเซียนที่เราเรียนกันอยู่อาจจะเพิ่มเป็น 11 ประเทศคือรวม Democratic Republic of Timor-Leste หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเตหรือติมอร์ตะวันออกเข้าไปด้วย  และเมื่อโอกาสอันดีนั้นมาถึง  เราจะได้ยินสโลแกนใหม่ สิบเอ็ดชาติ หนึ่งอาเซียน 

ติมอร์-เลสเตหรือในบทความนี้ขอเรียกสั้น ๆ ว่าติมอร์ฯ  ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2002  แต่ก่อนหน้าคือในปี 1999 ที่ผู้นำติมอร์ฯ กำลังรณรงค์หาเสียงสนับสนุนให้ติมอร์ฯ เป็นเอกราชอยู่นั้น  ผู้นำติมอร์ฯ ยังไม่มีความชัดเจนถึงทิศทางของอนาคตของประเทศถ้าหากได้รับเอกราชแล้วว่า  จะไปด้วยกับกลุ่มใด  แต่อาจเป็นด้วยเหตุผลเพื่อเอาใจมิตรประเทศที่อยู่เบื้องหน้า  ทำให้ผู้นำติมอร์ฯ กลับแถลงถึงความปรารถนาที่จะเข้ารวมกลุ่มเศรษฐกิจอื่น  ดังเช่นเมื่อเดือนตุลาคม 1999 ที่ Dr. Jose Ramos Horta ได้แถลงระหว่างเยือนประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกว่าติมอร์ฯ ประสงค์จะเข้ากลุ่ม South Pacific Forum มากกว่าจะเข้าเป็นสมาชิกสมาคมอาเซียน

แต่แล้วในเวลาเพียง 5 เดือนหลังได้รับเอกราชเมื่อเดือนพฤษภาคม 2002  ติมอร์ฯ กลับเปลี่ยนท่าทีมาสู่การขอเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน  ซึ่งนับเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้  เพราะหากไปร่วมกับ South Pacific Forum แล้ว  สิ่งที่ได้ก็คงเพียงความเป็นพี่ ๆ น้อง ๆ กับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก  มากกว่าที่จะมีแก่นสารจริงจังในทางเศรษฐกิจการค้า  เพราะลำพังประเทศในกลุ่มหมู่เกาะ  ไม่น่าจะทำให้ติมอร์ฯ มีโอกาสขยายตลาดการค้าได้กว้างขวาง  ตรงกันข้าม  หากเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนแล้ว  ย่อมจะอยู่ในวิสัยที่จะสร้างเสริมการส่งออกหรือเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่อย่างติมอร์ฯ ได้ดีกว่า  เนื่องจากอาเซียนมีขนาดใหญ่กว่าทั้งพื้นที่  พลเมืองและความหลากหลายทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ทันทีที่ติมอร์ฯ ได้รับเอกราชเมื่อเดือนพฤษภาคม 2002  ติมอร์ฯ ได้ขอเข้าเป็นสมาชิก ASEAN Regional Forum หรือ ARF และได้รับสถานะ ผู้สังเกตการณ์ของอาเซียนหรือ observer status โดยติมอร์ฯ สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์ประชุมของอาเซียนที่สำคัญ ๆ ได้หากแสดงความประสงค์  ซึ่งติมอร์ฯ ก็ได้ใช้สิทธินั้นเรื่อยมา  อย่างไรก็ดี  นับเป็นความโชคร้ายก็ว่าได้  ที่แม้นติมอร์ฯ จะได้เพียรแสดงท่าทีชัดเจนในการขอเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนมาตั้งแต่วันแรกที่ได้รับเอกราช  โดยได้แรงสนับสนุนจากอินโดนีเซีย  แต่ก็ไม่ปรากฏความคืบหน้ามากนัก

เหตุผลสำคัญน่าจะเป็นด้วยประเทศติมอร์ฯ ต้องมาว้าวุ่นกับความรุนแรงในประเทศที่ก่อตัวหลังเอกราชเรื่อยมาจนถึงปี 2006 ต่อเนื่องถึงปี 2008 และทำให้ผู้นำติมอร์ฯ ไม่มีโอกาส lobby เรื่องการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนผู้นำประเทศอาเซียนต่าง ๆ ได้อย่างจริงจัง  เนื่องจากต้องหมดเวลาไปกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งฆ่าฟันกันในประเทศ โดยมีอยู่เพียงครั้งเดียวกระมังที่นายกรัฐมนตรี Jose Ramoa Horta ได้แถลงระหว่างเข้าประชุม ARF ที่มาเลเซียเมื่อเดือนกรกฏาคม 2006 หลังเหตุนองเลือดครั้งสำคัญในต้นปีนั้นว่า  จะขอเข้าอาเซียนอย่างเป็นทางการและขออีก 5 ปีเพื่อเตรียมตัวเป็นสมาชิกสมบูรณ์  แต่แล้วความคึกโครมของเรื่องก็จางหายไป  ขณะที่ภาพความรุนแรงในประเทศติมอร์ฯ ห้วงนั้นกลับปรากฏขึ้น  และเป็นสิ่งที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างเห็นและรู้สึกถึงได้ว่า  ติมอร์ฯ ยังไกลเหลือเกินจากความสงบร่มเย็น  และยากนักที่จะเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนที่ต้องมีพันธะและความรับผิดชอบมากมาย 

อย่างไรก็ดี  สิ่งสำคัญที่พึงบันทึกไว้ก็คือ  ติมอร์ฯ สนใจและแสดงความประสงค์ทางการทูตผ่านผู้นำอินโดนีเซียซึ่งถือเป็นพี่เบิ้มอาเซียนมาแต่วันแรกว่าอยากเข้าอาเซียนฯ  ซึ่งถ้าติมอร์ฯ ติดตามเรื่องต่อเนื่องก็น่าจะเข้าได้ไม่ลำบากนัก  เพราะอินโดนีเซียคงช่วยผลักดันเต็มที่  เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นหนี้ที่ไปสร้างสิ่งเลวร้ายต่อชีวิตและเลือดเนื้อของชาวติมอร์ฯ ไว้หนักหนาสาหัส  ดังนั้น  หากวันใดที่ติมอร์ฯ ได้เข้าอาเซียนแล้วไซร้  ก็เท่ากับทั้งสองประเทศได้ก้าวผ่านบทแห่งความขมขื่นและความทรงจำที่เจ็บปวดไปสู่ห้วงแห่งความสุขและการพัฒนา  และทำให้อินโดนีเซียหลุดจากภาพจอมโหดแห่งภูมิภาคหรือพ้นจากโซ่ตรวนแห่งการถูกกล่าวร้ายโจมตีของตะวันตกในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เคยกระทำต่อติมอร์ฯ ไปได้ในระดับหนึ่ง  ขณะที่ติมอร์ฯ เมื่อได้เข้าอาเซียนก็ถือเสมือนว่าได้หลุดพ้นและทิ้งอดีตเจ็บปวดเพื่อเดินหน้าสร้างบ้านเมืองกันใหม่ภายใต้ความร่วมมือกับอาเซียนต่อไป 

อนึ่ง  ในห้วงระยะเวลานั้น  หากเทียบกับประเทศอย่าง CLMV อื่นที่เข้า ๆ อาเซียนกันมาก่อนหน้านั้นไม่นาน  หลายอย่างยังอุ่นอยู่  และเรื่องต่าง ๆ ยังอยู่ในความทรงจำ  (เวียตนามเข้า 1995, ลาวและพม่าเข้า 1997, และกัมพูชาเข้าเมื่อ 1999) ทำให้โอกาสของติมอร์ฯ นั้นเป็นไปได้อย่างมากถ้าหากมีการผลักดันออกเป็นมติของอาเซียนในการประชุมระดับสูงสุด (ASEAN Summit) ในระยะนั้น  แต่การกลับเป็นว่าติมอร์ฯ ไม่ได้ติดตามด้วยเหตุที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาภายในประเทศ  จนกระทั่งวันที่ 4 มีนาคม 2011 นี้เองที่ประธานาธิบดี Jose Ramos Horta ต้องมาเดินตามกฏด้วยการยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ  ในเวลาที่กฏบัตรอาเซียนออกมาบังคับใช้แล้วกับการรับสมาชิกใหม่ในปี 2008  ทำให้ความยืดหยุ่นทางการเมืองของอาเซียนขาดหายไป  และแม้นตัวประธานาธิบดี Horta จะได้แถลงตามหลังการยื่นใบสมัครว่าติมอร์ฯ หวังจะได้เป็นสมาชิกในปี 2012 ก็ตาม  แต่วันเวลาผ่านไปจนถึงวันนี้แล้ว  ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  ถ้าอย่างนั้นติมอร์ฯ จะต้องรอถึงเมื่อไหร่  หรือต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใด

การรับติมอร์ฯ เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนนั้นอยู่ในระเบียบวาระ  แต่จะเป็นเมื่อไหร่ที่ ASEAN Summit จะตัดสินนั้นคงต้องรอ  หลายประเทศสมาชิกยอมรับว่าติมอร์ฯ อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างชัดเจน   แต่ความที่ติมอร์ฯ เป็นประเทศในกลุ่ม least developed countries ที่ระดับการพัฒนาต่ำ  บางประเทศอาเซียนจึงเชื่อว่าติมอร์ฯ จะมาฉุดดึงอาเซียนให้ถอยหลังมากกว่าที่จะเดินหน้าไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015  ที่อาเซียนมุ่งมั่นจะเป็นตลาดเดียว (single market) ที่เป็นฐานการผลิตหลักที่สำคัญโดยจะก้าวสู่การเป็นภูมิภาคที่มีระดับการแข่งขันสูงภายใต้ระบบเศรษฐกิจการค้าและบริการที่เสรี

ติมอร์ฯ วันนี้มีประชากร 1.1 ล้านคน  ซึ่งแน่นอนว่าหากเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนแล้วติมอร์ฯ จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตลาดการค้าอาเซียนที่มีประชากรถึง 600 ล้านคน  และแทนที่ติมอร์ฯ จะได้เพียงประโยชน์จากการตลาดกับสมาชิก Community of Portuguese Language Countries หรือ CPLP ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของ 8 ประเทศพูดภาษาโปรตุเกสที่มีประชากร 236 ล้านคนแล้ว  เมื่อรวมส่วนของตลาดอาเซียน  จะทำให้ติมอร์ฯ มีตลาดสำหรับสินค้าของตนได้ถึง 836 ล้านคนเลยทีเดียว  อันนี้ยังไม่นับรวมสิทธิพิเศษที่ติมอร์ฯ จะได้จากจีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และหลายประเทศตะวันตกตลอดจนประชาคมเศรษฐกิจยุโรปที่พร้อมให้ความช่วยเหลือในฐานะประเทศ least developed country ตามเกณท์ระหว่างประเทศที่จัดวางกันไว้อีกด้วย  จึงเห็นชัดเป็นอย่างยิ่งว่าโอกาสทองของติมอร์ฯ นั้นรออยู่เบื้องหน้า

กฏบัตรอาเซียนที่มีผลบังคับใช้แล้วได้กำหนดไว้ในมาตรา 6 ว่าด้วยการรับสมาชิกใหม่ว่า  ประเทศนั้นจะต้องตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เป็นที่ยอมรับของอาเซียนทุกประเทศ  ตกลงยินยอมปฏิบัติตามกฏบัตรอาเซียน  และมีความสามารถและความปรารถนาที่จะดำเนินการตามพันธะกรณีในฐานะประเทศสมาชิก  และที่สำคัญที่สุดก็คือ  การรับสมาชิกใหม่จะต้องตัดสินใจโดยฉันทามติของสิบประเทศสมาชิกในการประชุมระดับสูงสุดของอาเซียน

เมื่อเราทะยอยพิจารณาดูทีละประเด็นเห็นชัดว่าเรื่องที่ตั้งชัดเจนเพราะอยู่ส่วนปลายสุดของหมู่เกาะอินโดนีเซีย  กับทั้งเราก็สามารถกล่าวได้ว่าติมอร์ฯ ก็เคยเป็นสมาชิกอาเซียนแล้วเมื่อครั้งอยู่ภายใต้อธิปไตยของอินโดนีเซีย  สำหรับเรื่องการยอมรับก็ชัดเจนนับแต่วันแรกที่อาเซียนให้สถานะผู้สังเกตการณ์แก่ติมอร์ฯ และการรับติมอร์ฯ เข้าเป็นสมาชิก ARF นอกจากนี้  ติมอร์ฯ ยังได้เข้าร่วมการประชุมของอาเซียนด้วยดีเสมอ ๆ เพื่อสร้างเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียน  ดังนั้น  จึงแจ้งชัดว่าติมอร์ฯ ได้เป็นที่ยอมรับของอาเซียน  อนึ่ง ติมอร์ฯ ยังได้เคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญภายใต้ ARF ที่กรุงดิลี  มาแล้วอีกด้วย

นอกจากนี้  ติมอร์ฯ ยังได้ลงนามใน Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia หรือ TAC ด้วยแล้วเมื่อปี 2007  ซึ่งหมายความว่าประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้พร้อมผูกพันและยอมรับต่อแนวคิดว่าด้วยการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก  และกฏเกณท์ต่าง ๆ ที่อาเซียนได้จัดวางไว้  และในส่วนอื่น ๆ  ติมอร์ฯ ยังได้เปิดสำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติติมอร์ฯ ขึ้นที่กรุงดิลี  โดยประเทศสมาชิกอาเซียนต่างร่วมมือให้ความช่วยเหลือทั้งด้านฝึกอบรมบุคคลากรและเทคนิควิธีการในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของอาเซียนเป็นอย่างดี

ดังนั้น  ที่เหลืออยู่เวลานี้ก็คือรอว่าวันใดที่ที่ประชุมสุดยอดของอาเซียนจะออกฉันทามติยอมรับติมอร์ฯ เข้าเป็นสมาชิก  ซึ่งหากวิเคราะห์ลงไปแล้วจะเห็นว่า  เวลานี้มิใช่เรื่องของอาเซียนที่จะตัดสิน  แต่เป็นเรื่องของติมอร์ฯ เองมากกว่าที่จะแสดงความพร้อมในทุกด้านออกมาให้อาเซียนเห็นต่างหาก  เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในการที่ติมอร์ฯ จะสามารถประกอบกิจกรรมทั้งหลายทั้งมวลร่วมกับอาเซียนได้นั้น  ติมอร์ฯ ต้องมีทรัพยากรบุคคลที่พร้อมสรรพ  โดยต้องได้บุคคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมและเรียนรู้เรื่องอาเซียนที่พร้อมปฏิบัติงานของกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ได้  แต่วันนี้ติมอร์ฯ ยังมีคนจำกัด  และคนที่มีก็ยังมีความสามารถหรือความรู้เรื่องอาเซียนอย่างจำกัดอีกด้วย  

อาเซียนมีการประชุมในสาขางานหรือวิชาการด้านต่าง ๆ รวมปีหนึ่งประมาณ 600 วัน  บ้างก็ว่ามากถึง 800 วัน  ซึ่งการประชุมจำนวนมากมายเหล่านี้  ต้องการให้ทุกประเทศสมาชิกเข้าร่วมเพื่อพิจารณาและตัดสินเพื่อให้งานก้าวเดินต่อไป  หากการประชุมใดขาดเสียซึ่งสมาชิกเพียงประเทศเดียว  เรื่องที่เข้าสู่การพิจารณาของการประชุมนั้นก็ต้องชะงักงันไป  ด้วยเหตุนี้   ติมอร์ฯ จึงต้องมีคนพร้อม  แล้วภาษาอังกฤษก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่น้อย  เนื่องจากการประชุมอาเซียนได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทำงาน  แต่ติมอร์ฯ ยังมีผู้รู้ภาษาอังกฤษแตกฉานไม่มากพอ  แต่ก็ทราบว่าติมอร์ฯ กำลังเร่งเสาะหาหรือแก้ไข  โดยเวลานี้  ติมอร์ฯ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประเทศสมาชิกและประเทศคู่เจรจา หรือ Dialogue Partners ต่าง ๆในการพัฒนาด้านภาษา เทคนิคการทำงาน และระบบสารสนเทศสมัยใหม่อื่น ๆ เพื่อให้เกิดความพร้อมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้  เวลานี้จึงเป็นความท้าทายเสียยิ่งกว่าเป็นโอกาสที่ติมอร์ฯ กำลังเผชิญในการเข้าสู่อาเซียน  แต่ด้วยผลประโยชน์และความยิ่งใหญ่ที่จะตามมา  ติมอร์ฯ คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง  โดยมีมิตรประเทศโดยเฉพาะไทยและอินโดนีเซียที่ให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด  ทำให้โอกาสเข้าอาเซียนของติมอร์ฯ คงมาถึงได้ในไม่ช้า

Saturday, November 3, 2012

ภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้านกับประชาคมอาเซียน

เมื่อกล่าวถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษ  ถ้าหากกล่าวในกรอบกว้างโดยพิจารณาถึงกระแสโลกาภิวัตน์ที่กำลังร้อนแรงอยู่ในเวลานี้แล้ว  แน่นอนว่าภาษาอังกฤษยังสำคัญยิ่งยวดในการติดตามวิทยาการสมัยใหม่ตลอดจนข่าวสารสนเทศและความเป็นไปของโลกที่พัวพันกับวิถีชีวิตของคนไทยยุคปัจจุบัน  และถ้ากล่าวโดยเปรียบเทียบกับภาษาเพื่อนบ้านแล้ว  ภาษาเพื่อนบ้านย่อมมีความสำคัญน้อยกว่าภาษาอังกฤษไม่ว่าจะในวงวิชาการหรือในเรื่องอื่น ๆ  ด้วยผู้คนต่างก็ยังยึดถือภาษาอังกฤษออกหน้าออกตากว่าภาษาเพื่อนบ้านอย่างเห็นได้ชัด  แต่เมื่อท่านนำสองเรื่องคือภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้านมาเชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่ในประชาคมอาเซียนแล้ว  ย่อมกลายเป็นหัวข้อเรื่องใหญ่ที่ท้าทายต่อการถกแถลงเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษและ การใช้ภาษาเพื่อนบ้านสำหรับคนไทยเราในอนาคตเมื่อประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเป็นอย่างมาก 

เพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจเป็นขั้นเป็นตอน  จึงขอลำดับประเด็นเรื่องที่จะกล่าวออกเป็น 7 ประเด็นด้วยกันคือ  ประชาคมอาเซียนจะเกิดในปี 2558  ต้องอาศัยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน  ซึ่งการเชื่อมโยงประชาชนนั้นสำคัญสุด  จากนั้นเป็นเรื่องภาษาอาณานิคมและภาษาท้องถิ่น  ตามด้วยประเด็นว่าภาษาอังกฤษเติบโตมากับอาเซียน รวมถึงดูความเข้มของภาษาอังกฤษกับพัฒนาการของอาเซียน  และปิดท้ายด้วยมุมมองต่อภาษาท้องถิ่นกับอนาคตอาเซียน

ประชาคมอาเซียนจะเกิดในปี 2558

ทุกท่านทราบกันมาเป็นอย่างดีแล้วว่า  อาเซียน 10 ประเทศมีเป้าหมายจะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558  ที่ประชาคมอาเซียนจะประกอบด้วยเสาค้ำสำคัญ 3 เสา  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง  ประชาคมอาเซียนจะเป็นประชาคมไปไม่ได้ถ้าไม่มีความสำเร็จของ 3 เสาหลัก  คือการเมืองความมั่นคง  เศรษฐกิจ  และสังคมวัฒนธรรม

3 เสาหลักมีความสำคัญทุกเสา  มีพลังค้ำยันที่แข็งแกร่งก็ต้องแข็งแกร่งทุกเสา  ซึ่งหากดูตัวอย่างง่าย ๆ เพื่อให้เห็นภาพ  ก็คือเก้าอี้เล็กที่มี 3 ขา  ต้องมั่นคง  ไม่อย่างนั้นคุณอาเซียนจะนั่งไม่ได้  แต่ถ้ามั่นคง  คุณอาเซียนจะเอนไปซ้ายนิดขวาหน่อย  ก็ firm ไม่ล้มหงาย  เพราะแต่ละขาจะสัมพันธ์กำลังรับกันอย่างมีดุลภาพ  การที่เก้าอี้เล็กมี 3 ขาหลัก  ย่อมนำมาซึ่ง ความสามารถในการแข่งขันสูง  เปรียบเสมือนจำเป็นไม่แต่เพียงรองนั่ง  คุณอาเซียนยังอาจขึ้นไปยืนบนเก้าอี้เล็ก 3 ขาเพื่อหยิบหรือเขี่ยสิ่งของที่ต้องการที่อยู่สูงขึ้นไปได้อีกด้วย

แต่การจะร่วมกันสร้างความแข็งแกร่งให้กับทั้ง 3 เสาเพื่อให้สามารถในการแข่งขันสูงได้  ต้องมีกติกาชัดเจน  มิใช่ต่างคนต่างทำ  และเมื่อมีกติกาชัดเจนก็ต้องเด่นชัดว่า  ทั้งหลายทั้งมวลทำเพื่อประชาชนคนในประชาคมอาเซียน  มิใช่เพื่อต่างชาติ (นอกอาเซียน) หรือประเทศที่สาม  หรือบริษัทข้ามชาติใด ๆ  ด้วยเหตุนี้  ทุกเรื่องที่ทำต้องมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง  และนี่เองที่เป็นที่มาของการออกกฎบัตรอาเซียน  ที่จะเปรียบก็เหมือนการมีธรรมนูญของอาเซียนนั่นเอง

กฎบัตรหรือธรรมนูญอาเซียนประกาศและมีผลบังคับใช้เมื่อ 2551 เป็นการบอกชาวโลกและเตือนพวกเรากันเองว่าต่อแต่นี้ไป  เรามิใช่จะรวมตัวสัมพันธ์กันอย่างหลวม ๆ อีกแล้ว  แต่จะมีเป้าหมายชัดเจน  จะโตด้วยกันรวยด้วยกัน  และจะไปในทิศทางใดก็จะไปด้วยกัน  ซึ่งจะเป็นการไปอย่างมีขั้นตอนมีกฎระเบียบกำกับชัดเจน  ทำให้อาเซียนมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่มีสิทธิมีหน้าที่  มีหลักเกณท์การรับสมาชิกใหม่ที่เมื่อประเทศใดใหม่ประสงค์เข้ามาต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกประเทศสมาชิก  ทั้งนี้  อาเซียนต้องก้าวหน้าด้วยทุกประเทศต้องปฏิบัติตามพันธะและต้องออกกฏหมายภายในรองรับ  นอกจากนี้  เวลามีความขัดแย้งก็มีหลักเกณท์ในการแก้ไข  หรือใครทำผิดก็ตัดสินลงโทษกันได้  ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่ปรากฏในกฏบัตร  แต่ทำได้จริงคงเป็นอีกเรื่องที่ต้องติดตาม

ต้องอาศัยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน

เมื่อตกลงปลงใจจะกอดคอกันเป็นประชาคมอาเซียน  โดยหวังให้มีเสาหลัก 3 เสาค้ำยันนั้น  มาจากเหตุผลสำคัญคือ (ก) ให้ทุกประเทศอุ่นใจไม่ขัดแย้งหรือหากขัดแย้งก็มีหนทางแก้ไข  เพราะมีเสาหลักการเมืองความมั่นคง  (โดยในประชาคมมีบรรยากาศเป็นประชาธิปไตย  มีความยุติธรรมและมีความปรองดองและรักสันติกับโลกภายนอก)  และ (ข) ให้ทุกประเทศอุ่นใจไม่จนไม่ขัดสน  เพราะมีเสาหลักเศรษฐกิจ  (ที่มีตลาดและฐานการผลิตเดียวกันซึ่งแน่นอนว่าต้องใหญ่และทำให้เศรษฐกิจรวมเข้มแข็งสามารถแข่งขันในระบบเศรษฐกิจโลกได้) ตามด้วย (ค) ให้ทุกประเทศอุ่นใจด้วยสังคมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (เพราะลูกหลานมีการศึกษาและความเป็นมนุษย์ที่ไม่จัดสนจนยากแถมเปี่ยมล้มด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชน) 

แต่ที่กล่าวไว้ข้างต้นจะเกิดได้  10 ประเทศอาเซียนที่แยกกระจายจากเหนือสู่ใต้  หรือจากออกสู่ตก  ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลด้วยประชากรกว่า 600 ล้านคน  จะต้องเชื่อมโยงกัน 

เหตุนี้เองที่ประเทศไทยในปี 2553 จึงได้เสนอแนวคิดว่าด้วยความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน หรือ ASEAN Connectivity ขึ้น  เพื่อเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของประชาคมอาเซียน  และนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558  โดยในการนี้  อาเซียนยังได้จัดทำแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน หรือ ASEAN Master Plan on ASEAN Connectivity

เชื่อมโยงประชาชนนั้นสำคัญสุด

ภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน หรือ Master Plan ดังกล่าวข้างต้น  จะมีองค์ประกอบหลัก คือ
·      1.  ความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน  คมนาคม เทคโนโลยีและการสื่อสารพลังงาน  ซึ่งคาดว่าจะก่อเกิดประโยชน์มากมายในกลุ่มประเทศสมาชิกทางการขนส่งและโลจิสติกส์  ไปมาหากันโดยสะดวกรวดเร็ว  ทำให้ค้าขายแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น  กระตุ้นทั้งในอาเซียนและจากภายนอกให้สนใจเข้ามาร่วม
·      2.  ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ  ซึ่งได้แก่การตกลงร่วมกันด้านข้ามพรมแดน  พิธีการขนส่ง  ตลอดจนกฎระเบียบว่าด้วยการบริการและการค้าไปมา
·      3.  ความเชื่อมโยงด้านประชาชน  ไม่ว่าจะเชื่อมกันด้านการศึกษาและวัฒนธรรม  ที่มีเรื่องของการท่องเที่ยว  การไปมาหาสู่  ที่จะทำได้บ่อยและสะดวกรวดเร็ว
แต่ทั้งหมดนี้  เราต่างต้องยอมรับว่า  การเชื่อมโยงประชาชนอาเซียนในข้อท้ายสุดนี้ที่สำคัญ  และจะให้เชื่อมโยงกันแนบแน่น  ต้อง เชื่อมใจกันให้ได้  ซึ่งนอกจากใช้สายตามองกันไปมาแล้ว  ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของ ภาษา ที่จะเป็นสื่อกลาง เชื่อมใจของเหล่ามวลมิตร

ภาษาอาณานิคมและภาษาท้องถิ่น

ถ้าจับทั้ง 10 ประเทศอาเซียนมาวางบนแผ่นกระดาษ  จะเห็นกลุ่มลุ่มน้ำโขงบนพื้นแผ่นดินกลุ่มหนึ่ง  กับกลุ่มเกาะแก่งในมหาสมุทรแปซิฟิคอีกกลุ่มหนึ่ง  ซึ่งประเทศที่อยู่ในกลุ่มทั้งสอง  ต่างเคยตกเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดินิยมมานับสิบนับร้อยปีกันเป็นส่วนใหญ่  ทำให้ภาษาของประเทศเจ้าอาณานิคมหรือประเทศแม่  ถูกนำมาบังคับใช้กับกลุ่มคนชั้นนำและผู้ปกครองชุมชนต่าง ๆ ของประเทศเหล่านี้มายุคถูกยึดครอง  ทั้งเพื่อสั่งและเพื่อสอน  ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือภาษาดัชท์  โดยภาษาท้องถิ่นมีใช้กันแต่ก็ไม่อาจเทียบเคียงความสำคัญกับภาษาเจ้าอาณานิคมได้ 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  เกิดลัทธิชาตินิยมและต่อต้านอาณานิคมด้วยการเรียกร้องเอกราช  ทำให้ประเทศที่ได้เกิดใหม่ต่างรังเกียจภาษาของเจ้าอาณานิคมอยู่ในระดับหนึ่ง  ที่ทำให้มีการนำภาษาท้องถิ่นกลับมาใช้ในราชการ  และลดความสำคัญของภาษาอาณานิคมลง  เป็นเหตุให้ประชาชนใน generation ต่อมา  ไม่รู้ภาษาอาณานิคมเหมือพ่อแม่ปู่ย่าตาทวด  ดังจะเห็นได้จากพม่า เวียตนามหรืออินโดนีเซียเป็นตัวอย่าง

การเกิดใหม่ของบางประเทศในกลุ่มอาเซียนในครั้งนั้น  ต้องหาเครื่องมือในการรวมชาติด้วยประเทศมีหลากหลายเชื้อชาติ  ครั้นจะเอาภาษาใดภาษาหนึ่งมาย่อมไม่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป  ดังนั้น  ภาษากลางที่ทุกฝ่ายยอมรับจึงกลับเป็นภาษาเจ้าอาณานิคม  ดังจะเห็นได้จากในสิงคโปร์และมาเลเซีย  ที่ภาษาอังกฤษถูกนำมาใช้เพื่อเอกภาพตราบเท่าทุกวันนี้  จึงไม่แปลกใจว่าทำไมทั้งสองประเทศนี้ถึงใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก  อย่างไรก็ดี  ทุกประเทศในอาเซียน (ยกเว้นสิงคโปร์) ต่างก็ไม่ทิ้งภาษาท้องถิ่นเดิม  และมีการปรับเป็นภาษาราชการ  ซึ่งคุณสมบัติสำคัญของภาษาท้องถิ่มเดิมเหล่านี้ก็คือ  ต้องเป็นภาษาที่อ่านและเขียนได้ 

ภาษาอังกฤษเติบโตมากับอาเซียน

การเข้ามาของภาษาอังกฤษในภูมิภาคอาเซียน  มีมูลเหตุจากอิทธิพลของเจ้าอาณานิคมอังกฤษในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่ภาษาอังกฤษถูกนำมาใช้ในราชการ  ถูกนำมาสอนให้ผู้นำหรือหัวหน้าชุมชนที่ทำหน้าที่ช่วยในการปกครอง  ที่จะได้สื่อกับนายตะวันตกหรือถ่ายทอดความต้องการไปสู่ประชาชนในท้องถิ่นได้  นอกจากนี้  ภาษาอังกฤษยังเป็นภาษาที่ผู้ปกครองของอาณาจักรหรือเมืองต่าง ๆ สนใจศึกษาเรียนรู้  เพื่อตามพฤติกรรมของตะวันตกได้ทัน  กับทั้งเพื่อยกระดับของตนให้สูงเทียมตะวันตกผู้มีอารยธรรม  ในการนี้  ยังได้ส่งบุตรหลานของตนไปศึกษาภาษาอังกฤษในประเทศอังกฤษหรืออาณานิคมของอังกฤษเช่นสิงคโปร์หรือปีนัง  ทำให้เป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสเลื่อนชั้นในสังคมได้อย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา  ดังจะเห็นได้จากชื่อเสียงและความมั่งคั่งของข้าราชการหรือพ่อค้านักธุรกิจที่เติบโตในต่างประเทศ  ซึ่งประเทศไทยเป็นตัวอย่างอันดีของเรื่องนี้

เมื่อภาษาอังกฤษเป็นมรดกตกทอดของเจ้าอาณานิคมที่ยิ่งใหญ่  และกลายเป็นภาษาที่หลากเชื้อชาติยอมรับ  รวมทั้งกลายเป็นภาษาแห่งเกียรติยศแห่งชนชั้น  จึงทำให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มอาเซียนชุดแรก (6 ประเทศ ประกอบด้วยมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทยและบรูไน) ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางหรือภาษาทำงาน (working language) ของอาเซียนมาตั้งแต่ก่อตั้งอาเซียน  โดย working language หมายถึงภาษาที่ใช้ในการพูด  อ่าน หรือเขียนทั้งในการประชุม หรือในเอกสารหรือรายงานการประชุม หรือในการสื่อสารถึงกันอย่างเป็นทางการในรูปแบบอื่น ๆ ที่รวมถึงการใช้ติดต่อกับประเทศภายนอกอาเซียนในนามของอาเซียนอีกด้วย   

ความเข้มของภาษาอังกฤษกับพัฒนาการของอาเซียน

สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน  ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ณ บ้านพักรับรองชายหาดบางแสน  โดย 5 รัฐมนตรีอาเซียนวันนั้นตระหนักดีถึงสถานการณ์โลกที่เกิดแบ่งเป็นค่ายเสรีและค่ายคอมมิวนิสต์  เห็นพิษร้ายจากสงครามเย็น  และเห็นภัยร้ายจากความขัดแย้งไม่ไว้วางใจกันและกันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ด้วยยังเป็นวันที่อินโดนีเซียเพิ่งขัดแย้งและทำสงครามมากับมาเลเซีย (2506-2508) มาหมาด ๆ ในปัญหา Kalimantan กับเขตพื้นที่ Salawak ที่ขยายวงความรุนแรงไปถึง Singapore-Malay Peninsula ขณะที่ฟิลิปปินส์ก็ขัดแย้งกับมาเลเซียและพยายามขัดขวางมาเลเซียไม่ให้ผนวกรวม Sabah เข้าอยู่ในสหพันธ์มาเวเซีย  ในจังหวะที่สิงคโปร์เวลานั้นอยู่ใต้มาเลเซียอย่างอึดอัดจนที่สุดถูกขับออกมาเป็นอีกประเทศหนึ่งในปี 2508  ทั้งนี้  ยังไม่นับรวมสงครามในอินโดจีนที่กำลังเข่นฆ่ากันอย่างอึกทึกครึกโครมต่อ ๆ มา

5 รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในวันก่อตั้ง  เห็นความไม่ปลอดภัยในและรอบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และเห็นถึงความบาดหมางไม่วางใจกันและกันอยู่ในทีของเหล่าอาเซียน  จึงครุ่นคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน  วันนั้นภาษาที่พูดคุยกันใช้ภาษาอังกฤษ  ผลจากการคุยกันวันนั้นนำไปสู่การก่อตั้งอาเซียนอย่างเป็นทางการ  และทุกรัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวสุนทรพจน์เป็นภาษาอังกฤษ 

ดร.ถนัด คอมันต์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยก็กล่าวในโอกาสนั้นความว่า  สิ่งที่เราตัดสินใจในวันนี้  เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของสิ่งที่เราหวังว่าจะนำมาซึ่งความสำเร็จต่อเนื่องในระยะยาว  ซึ่งเราและผู้ที่มาร่วมกับเราในภายหลังจะเกิดความภาคภูมิใจ


คำพูดของ ดร. ถนัดฯ เมื่อ 45 ปีก่อน  เป็นเสมือน road map ของการก่อร่างสร้างตัวของอาเซียน  ซึ่งเห็นชัดเจนกันในเวลาต่อมา  กล่าวคืออาเซียนได้จัดตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือกลุ่มปฏิบัติงานต่าง ๆ มากมาย  โดยคณะกรรมการต่าง ๆ มีการประชุมกันปีละกว่า 400 วันทั้งในระดับผู้เชี่ยวชาญไปจนถึงระดับอาวุโส  แต่เป้าประสงค์ในห้วง 10-20 ปีแรกมุ่งหวังเพียงให้อาเซียนมาพบปะเจอะเจอกันเพื่อสร้างความคุ้นเคยและค่อย ๆ ลดความหวาดระแวงต่อกันมากกว่าเอาจริงหรือเอาเป็นเอาตายในเรื่องของสาระ  ภาษาอังกฤษที่ใช้ในห้วงแรก ๆ จึงมีรูปแบบการเขียนโดยพยายามใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่าย (ซึ่งว่าไปก็เป็นเรื่องยาก)  อย่างไรก็ดี  อาเซียนจะมาเข้มข้นดูภาษาอังกฤษกันอย่างละเอียดจริงจังก็เมื่ออาเซียนเข้าสู่การประชุมหารือในเรื่องเศรษฐกิจการค้าในห้วงปีที่ 20-ปัจจุบันนี้เอง  เนื่องจากเกี่ยวข้องกับกระเป๋าหรือ dollar and cent รวมทั้งเมื่อกลุ่ม CLMV เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่เพิ่ม  ประเทศเข้าใหม่เหล่านี้ก็ต้องฝึกฝนเรื่องภาษาอังกฤษเพื่อใช้สื่อกับราชการอาเซียนทั้งหลายให้ได้นั่นเอง

ภาษาอังกฤษจึงกลายเป็นภาษาทำงานหรือ working language ของทั้ง 10 ประเทศที่จะใช้พูด เขียนหรือบันทึกในงานประชุมหารือหรือในการติดต่อโต้ตอบกันในหมู่ข้ารัฐการหรือข้าราชการของเหล่าประเทศสมาชิก  ทำให้หลายประเทศที่ได้เปรียบด้วยใช้กันมาแต่ยุคอาณานิคมก็จะได้เปรียบขณะที่ประเทศที่ไม่ได้ใช้มาก่อน  ก็จะถนัดน้อยกว่าในเวลาประชุมหรือพูดจากัน  แต่อย่างไรก็ดี  ภาษาอังกฤษอาเซียนเป็นภาษาที่มีถ้อยคำสำนวนที่ใช้ซ้ำ ๆ ด้วย patern เดิม ๆ ทำให้ไม่ยากที่จะทำความเข้าใจทั้งในหมู่สมาชิกเก่าที่ไม่เคยเป็นอาณานิคม อังกฤษอเมริกาหรือในหมู่สมาชิกใหม่ที่ไม่เคยใช้ภาษาอังกฤษมาก่อนก็ตาม  และที่สำคัญ  เมื่อมีการประชุมแล้วต้องจัดทำรายงาน  แน่นอนว่าประเทศเจ้าภาพก็จะคิดสรรข้าราชการที่รู้ภาษาดีมาจดมาทำรายงาน  และถ้าไม่ไหวจริงด้วยเรื่องที่ถกแถลงกันยากหรือละเอียดซับซ้อน  ที่ประชุมก็มักตั้งคณะยกร่างหรือ drafting committee ของการประชุมขึ้น  ซึ่งช่วยได้เป็นอย่างมาก 

โดยเหตุที่อาเซียนมีการประชุมกันมากมายทั้งปีไม่มีว่างเว้น  บุคคลากรของทุกประเทศที่ต้องเกี่ยวข้องกับงานอาเซียนไม่ว่าจะไป จากกระทรวงการต่างประเทศหรือกระทรวงทบวงกรมที่ดูแลเรื่องที่เกี่ยวข้อง กับการประชุมก็จะเรียนรู้สร้างสมประสบการณ์  นานวันเข้าภาษาทำงานของอาเซียนก็เป็นเรื่องที่สมาชิกซึมทราบและใช้กันเป็นปกติ  นั่นขอย้ำว่าทั้งหมดที่กล่าวมานี้  ภาษาอังกฤษถูกใช้กันในหมู่ผู้เกี่ยวข้องหรือให้ชัดก็คือข้ารัฐการหรือข้าราชการของประเทศต่าง ๆ ซึ่งคนเหล่านี้มีการศึกษาดีและคัดสรรมาแต่แรกเข้า  จึงรู้ภาษาอังกฤษและใช้ภาษานี้กับงานในแวดวงอาเซียน

การใช้ภาษาอังกฤษในแวดวงอาเซียนหมายความว่าพูดหรือเขียนหรืออ่านกันในเรื่องที่กำหนดคิดอ่านกันมา  เช่นชาวนาเวียตนามจะให้รัฐบาลเวียตนามช่วยให้ราคาข้าวดี  ก็ผลักดันเรื่องนี้  รัฐบาลเวียตนามเห็นว่าการตั้งสำรองข้าวยามฉุกเฉินอาเซียน  จะเป็นวิธีการดึงข้าวให้หายไปแล้วทำให้เกิด demand ข้าวระดับหนึ่งซึ่งที่สุดจะช่วยให้ราคาข้าวดี  ก็จะเสนอเรื่องให้กระทรวงเกษตรเวียตนามคิดกลไกหรือ scheme สำหรับอาเซียนขึ้นมา  ทั้งหมดคิดกันเป็นภาษาเวียตนาม  แล้วก็ส่งต่อให้กระทรวงการต่างประเทศเวียตนามร่วมทีมกับนักวิชาการ หรือข้ารัฐการจากกระทรวงเกษตรเวียตนามไปประชุมในกรอบคณะกรรมการด้านการเกษตร อาเซียน  เขาเหล่านั้นก็จะนำ idea เวียตนามแต่พูดออกมาเป็นภาษาอังกฤษในที่ประชุม  แล้วได้ความอย่างไร  ก็กลับฮานอยมาถ่ายทอดให้รัฐบาลหรือชาวนาเวียตนามเป็นภาษาเวียตนามต่อไป  สรุปคือภาษาอังกฤษยังเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในงานอาเซียนในกรอบงานภาครัฐเสียเป็นส่วนสำคัญ  คนเดินดินกินข้าวแกงหรือแม้แต่พ่อค้านักธุรกิจทั่วไป  ก็ไม่จำเป็นต้องพูดได้ลึกหรือเชี่ยวชาญถึงจะอยู่ได้  แต่ที่จะอยู่ไม่ได้ก็เพราะไม่รู้ว่าอาเซียนพัฒนาไปถึงไหน  แล้วอะไรออกมาใหม่ ๆ กระทบตัวเองอย่างไรเสียมากกว่า

อนาคตอาเซียนกับความสำคัญของภาษาท้องถิ่น

เวลานี้  ไม่ว่าจะเดินเหินไปที่ไหน  เราก็จะได้ยินเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558  และตามมาด้วยความวิตกว่าคนไทยเราไม่รู้ภาษาอังกฤษแล้วจะเสียเปรียบเมื่อวันที่รวมเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว  โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันถึงกับกำหนดให้ปี 2555 นี้เป็นปีแห่งการพูดภาษาอังกฤษ หรือ English Speaking Year ที่ให้มีกิจกรรมหนึ่งวันทุกสัปดาห์ว่าด้วยการใช้ภาษาอังกฤษกันทุกโรงเรียน 

การจะรู้ภาษาอังกฤษให้ดีสัปดาห์ละหนึ่งวันคงช่วยไม่ได้  และการจะดีในภาษาอังกฤษได้ต้องใช้หลัก repetition หรือกระทำซ้ำ ๆ กับทั้งจะต้องมีครูดี เครื่องมือการสอนการถ่ายทอดที่ดี  และที่สำคัญ  จะต้องมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ภาษาอังกฤษมากที่สุด  ทำให้การเร่งรัดเรื่องภาษาอังกฤษเป็นเรื่องพูดง่ายแต่ทำยาก  แต่ที่สุด  หากมีปาฏิหาริห์ที่ทำให้คนไทยรู้ภาษาอังกฤษดีได้ในสามปีห้าปี  ภาษาอังกฤษก็น่าจะเป็นเสมือนแหวนทองคำในกระเป๋า หรือ treasure มากกว่า
 
การมีแหวนทองคำในกระเป๋ามีข้อดีคือเมื่อหยิบขึ้นสวมใส่ก็ดูสวยงามสดุดตาสดุดใจผู้พบเห็น  และเมื่อจนนำออกขายก็ได้เงินทองมาเจือจุน  ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศในฐานะหน่วยงานหนึ่งในรัฐบาลที่ข้องเกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษ  ก็ได้พยายามสนองนโยบายของรัฐบาลในเรื่องให้คนไทยได้รู้ได้เรียนภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น  เพื่อให้ตามกระแสประชาคมอาเซียนให้ทัน

ถ้ามองอย่างกว้าง  ภาษาอังกฤษจากอดีตถึงปัจจุบันและต่อไปในอนาคต  ยังคงเป็นภาษาหลักและภาษาราชการของหลายประเทศในอาเซียน  รวมทั้งจะเป็นภาษาทำงาน (working language) ของอาเซียนตามที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรอาเซียน  และไม่น่าจะมีภาษาท้องถิ่นอื่นใดขึ้นมาทดแทนได้  แม้วันนี้จะมีการพูดกันว่ามาเลย์หรืออินโดนีเซียจะเอาภาษาบาฮาซาร์มาใช้ในอาเซียน  ซึ่งก็คงใช้พูดทักทายไปมาบ้าง  แต่คงไม่มีวันยกระดับขึ้นมาทดแทนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาทำงานได้  เนื่องจากเป็นการยากและเสียเวลามหาศาลที่จะมาเรียนรู้หรือให้การยอมรับ  ยิ่งมีข่าวว่าภาษาจีนจะเข้ามาด้วยยิ่งยากและคงเป็นไปไม่ได้ในระยะอันใกล้  แต่ถ้าจะอ้างว่าเหมือนภาษาที่ใช้กันในสหประชาชาติก็ต้องตกลงกันว่าจำเป็นไหม  ซึ่งก็ต้องพิจารณากันไปและหากจะเป็นจริงก็คงอีก 100 ปีกระมัง

อาเซียนก่อตั้งมานานถึง 45 ปี  และในอีกสองถึงสามปีก็จะเป็นประชาคมอาเซียน  ซึ่งเป็นประชาคมก็มิใช่รวมกันแต่เป็นเพียงการสร้างโอกาสใหม่ให้แลกเปลี่ยนกันได้ง่ายมากขึ้น  กฎระเบียบต่าง ๆ ยังคงอยู่และดูเหมือนจะมีเพิ่มเติมอีกมาก  อาทิ กฎระเบียบว่าด้วยเขตอุตสาหกรรม  กฎระเบียบว่าด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ  การจ้างงาน  กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน  การ privatization  การปฏิรูปเศรษฐกิจการค้า ฯลฯ  เหล่านี้  ประเทศต่าง ๆ ที่นอกจากจะตรากฎหมายต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นภาษาราชการของตนแล้ว  แน่นอนว่าจะต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษไว้คู่เคียงเพื่อประเทศสมาชิกและนอกอาเซียนจะสามารถอ่านได้ 

ด้วยเหตุผลข้างต้น  นักธุรกิจพ่อค้าและบริษัทของไทย  จำเป็นต้องมีกลุ่มบุคคลหรือเป็นทีมงานที่สุมหัวกันเป็นโต๊ะภาษาอังกฤษเพื่องานอาเซียน  แล้วเข้าไปศึกษาติดตามหรือวิเคราะห์ถ้อยคำต่าง ๆ ตามตัวบทของกฎระเบียบที่อ้างถึงข้างต้น  ดังนั้น  ภาษาอังกฤษ  หากคนไทยพูดได้มากพูดได้ดี  หรือยิ่งถึงขั้นแตกฉานย่อมได้เปรียบในการเรียนรู้และทำความเข้าใจ  และใช้ประโยชน์ตามช่องทางต่าง ๆ ได้มากเป็นเงาตามตัว  แต่ทั้งนี้  ถ้าจะให้ได้เปรียบสูงสุด  ก็คงจะต้องเข้าใจถึง ใจของเพื่อนบ้านที่เราจะไปลงทุนค้าขายกับเขาด้วย  และการจะเข้าถึง ใจของเขาก็ต้องด้วยภาษท้องถิ่นเป็นสำคัญ


มีผู้ตั้งคำถามเสมอ ๆ ว่าภาษาท้องถิ่นเพื่อนบ้านนั้นสำคัญ  ทำไมเราไม่สนใจภาษาเขาหรือ  ทั้งที่ประเทศนั้นสร้างชาติสร้างประเทศมานานนับร้อยปี  ย่อมมีนักปราชญ์ผลิตงานเขียนทรงคุณค่าทั้งวิชาการ วรรณคดีหรือทางวัฒนธรรมมากมาย  แถมฝรั่งตาน้ำข้าวเขาแห่กันมาสนใจแต่บ้านติดกับไทย  ไทยเราจะไม่สนใจจริงจังกันหรือ

ภาษาอังกฤษในวันนี้ถูกกล่าวถึงในความสำคัญอย่างยิ่งใหญ่  ในสื่อในบทความทางวิชาการหรือในเวทีสัมมนาพูดคุยทั้งในกรอบภาครัฐหรือวงการของเอกชนก็พูดถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษกันไม่ขาดปาก  เสมือนเป็นสิ่งที่ต้องเร่งรีบทำให้ได้เรียนให้ดีรู้ให้แตกฉานให้แล้วเสร็จให้ทันปี 2558 มิเช่นนั้นจะเสียหาย  ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการวาดภาพที่น่ากลัวเกินหรืออาจไปถึงขั้น mislead หรือชักนำผิดทางหรือทำให้เข้าใจผิด ๆ ได้  ทั้งนี้เพราะวันที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็คือวันที่คนไทยได้เปิดใจรับรู้หรือ felt (รู้สึกประหนึ่งได้สัมผัส) ดีพอแล้วกับ ประชาคมอาเซียน

ขออธิบายด้วยการยกตัวอย่าง  เหมือนฝนที่เคยตกหนักกันอยู่ทางภาคเหนือตอนล่างแล้ววันนี้น้ำนั้นได้ไหลหลากมาถึงอยุธยา  แน่นอนว่าน้ำจะต้องไหลต่อมาท่วมบ้านตนที่นนทบุรีเป็นแน่แท้  ซึ่งสิ่งนี้คนที่อาศัยอยู่ที่นนทบุรีรู้ดีว่าอะไรจะเกิด  และเกิดจากอะไร  แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป  ดังนั้น  การรู้สึกประหนึ่งได้สัมผัสถึงน้ำที่จะมาท่วมที่บ้านตนแล้วจะรับมืออย่างไร  จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด  หมายความว่า  จู่ ๆ เช้าวันหนึ่งในปี 2558   มีคนฟิลิปปินส์มาสอนหนังสือมากหูมากตาแถวสยามสแควร์  เป็นเหตุให้ครูไทยถูกเชิญให้ออก  หรือจู่ ๆ มีน้ำปลาเวียตนามมาตั้งขายที่เทสโก้ราคาถูกกว่าตราปลาฉลามครึ่งต่อครึ่ง  แล้วไม่นานก็ได้ยินว่าโรงงานน้ำปลาตราปลาฉลามต้องปิดตัวลง  หรือหมอฟันที่ปากซอยที่ยังรักษารากฟันเราค้างอยู่หายตัวไปทำที่สิงคโปร์แล้วเราต้องไปเสียค่าทำฟันใหม่ที่แพงกว่าเดิม  เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องรู้ที่มาที่ไป  ซึ่งการจะรู้ที่มาที่ไป  ต้องรู้หรือได้เรียนได้รับฟังให้เข้าใจดีในเรื่องอาเซียนหรือผลที่จะตามมาจากการเกิดประชาคมอาเซียนเสียแต่เนิ่น ๆ

ถ้ารัฐบาลจะโยนงบประมาณเร่งด่วนไปเร่งสอนให้เด็กหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่รู้ภาษาอังกฤษกันอย่างเอิกเกริกสัปดาห์ละ 1 วันนั้นเป็นเรื่องดี  แต่คงไม่ได้อะไร  แต่หากนำงบประมาณก้อนเดียวกันนี้ไปใช้กับการจัดหาครูอาจารย์ที่รู้ดี รู้จริงเรื่องประชาคมอาเซียนมาสอนเด็กหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่โดยถือเป็นหลัก สูตรเร่งด่วนแล้ว  ย่อมจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า  แต่ทั้งนี้  ก็มิใช่เลิกเรื่องภาษาอังกฤษ  เพียงแต่ปล่อยเรื่องภาษอังกฤษให้ค่อย ๆ พัฒนาไป  ไม่ต้องไปตกใจผลีผลาม  เพราะเวลานี้บ้านเมืองไทย  ก็มีผู้รู้ภาษาอังกฤษระดับเยี่ยมอยู่มากในทุกองค์กรหลากหลายสถาบัน  ที่จะเข้าสู่การเจรจาดูแลผลประโยชน์กับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนหรือกับประเทศหรือองค์กรใด ๆ นอกอาเซียนได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว  เฉกเช่นเดียวกับที่เคยทำกันนับแต่ก่อตั้งอาเซียนเมื่อ 45 ปีที่ผ่านมา

อนึ่ง  การที่เราเกิดมาไม่รู้ภาษาอังกฤษแตกฉานกันทั้งประเทศเหมือนสิงคโปร์ มาเลเซียหรือฟิลิปปินส์  ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยจนกว่าเขา  และการที่ญี่ปุ่นที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศพูดแต่ญี่ปุ่นเขียนแต่ญี่ปุ่น  ก็ไม่ได้ทำให้เขากลายเป็นประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจด้อยกว่าประเทศอังกฤษที่พูดภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เกิด  เนื่องจากคนญี่ปุ่นมีโอกาสอ่านหนังสือภาษาญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่อง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่คนอังกฤษอเมริกันชั้นเซียนเขียนขึ้นมาต่างหาก