Sunday, December 2, 2012

ติมอร์ฯ กับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน



เมื่อกล่าวถึงสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน  ทุกชั้นเรียนก็จะระบุถึงประเทศสมาชิก 10 ประเทศ  แต่ในอนาคตอันใกล้  อาเซียนที่เราเรียนกันอยู่อาจจะเพิ่มเป็น 11 ประเทศคือรวม Democratic Republic of Timor-Leste หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเตหรือติมอร์ตะวันออกเข้าไปด้วย  และเมื่อโอกาสอันดีนั้นมาถึง  เราจะได้ยินสโลแกนใหม่ สิบเอ็ดชาติ หนึ่งอาเซียน 

ติมอร์-เลสเตหรือในบทความนี้ขอเรียกสั้น ๆ ว่าติมอร์ฯ  ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2002  แต่ก่อนหน้าคือในปี 1999 ที่ผู้นำติมอร์ฯ กำลังรณรงค์หาเสียงสนับสนุนให้ติมอร์ฯ เป็นเอกราชอยู่นั้น  ผู้นำติมอร์ฯ ยังไม่มีความชัดเจนถึงทิศทางของอนาคตของประเทศถ้าหากได้รับเอกราชแล้วว่า  จะไปด้วยกับกลุ่มใด  แต่อาจเป็นด้วยเหตุผลเพื่อเอาใจมิตรประเทศที่อยู่เบื้องหน้า  ทำให้ผู้นำติมอร์ฯ กลับแถลงถึงความปรารถนาที่จะเข้ารวมกลุ่มเศรษฐกิจอื่น  ดังเช่นเมื่อเดือนตุลาคม 1999 ที่ Dr. Jose Ramos Horta ได้แถลงระหว่างเยือนประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกว่าติมอร์ฯ ประสงค์จะเข้ากลุ่ม South Pacific Forum มากกว่าจะเข้าเป็นสมาชิกสมาคมอาเซียน

แต่แล้วในเวลาเพียง 5 เดือนหลังได้รับเอกราชเมื่อเดือนพฤษภาคม 2002  ติมอร์ฯ กลับเปลี่ยนท่าทีมาสู่การขอเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน  ซึ่งนับเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้  เพราะหากไปร่วมกับ South Pacific Forum แล้ว  สิ่งที่ได้ก็คงเพียงความเป็นพี่ ๆ น้อง ๆ กับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก  มากกว่าที่จะมีแก่นสารจริงจังในทางเศรษฐกิจการค้า  เพราะลำพังประเทศในกลุ่มหมู่เกาะ  ไม่น่าจะทำให้ติมอร์ฯ มีโอกาสขยายตลาดการค้าได้กว้างขวาง  ตรงกันข้าม  หากเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนแล้ว  ย่อมจะอยู่ในวิสัยที่จะสร้างเสริมการส่งออกหรือเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่อย่างติมอร์ฯ ได้ดีกว่า  เนื่องจากอาเซียนมีขนาดใหญ่กว่าทั้งพื้นที่  พลเมืองและความหลากหลายทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ทันทีที่ติมอร์ฯ ได้รับเอกราชเมื่อเดือนพฤษภาคม 2002  ติมอร์ฯ ได้ขอเข้าเป็นสมาชิก ASEAN Regional Forum หรือ ARF และได้รับสถานะ ผู้สังเกตการณ์ของอาเซียนหรือ observer status โดยติมอร์ฯ สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์ประชุมของอาเซียนที่สำคัญ ๆ ได้หากแสดงความประสงค์  ซึ่งติมอร์ฯ ก็ได้ใช้สิทธินั้นเรื่อยมา  อย่างไรก็ดี  นับเป็นความโชคร้ายก็ว่าได้  ที่แม้นติมอร์ฯ จะได้เพียรแสดงท่าทีชัดเจนในการขอเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนมาตั้งแต่วันแรกที่ได้รับเอกราช  โดยได้แรงสนับสนุนจากอินโดนีเซีย  แต่ก็ไม่ปรากฏความคืบหน้ามากนัก

เหตุผลสำคัญน่าจะเป็นด้วยประเทศติมอร์ฯ ต้องมาว้าวุ่นกับความรุนแรงในประเทศที่ก่อตัวหลังเอกราชเรื่อยมาจนถึงปี 2006 ต่อเนื่องถึงปี 2008 และทำให้ผู้นำติมอร์ฯ ไม่มีโอกาส lobby เรื่องการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนผู้นำประเทศอาเซียนต่าง ๆ ได้อย่างจริงจัง  เนื่องจากต้องหมดเวลาไปกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งฆ่าฟันกันในประเทศ โดยมีอยู่เพียงครั้งเดียวกระมังที่นายกรัฐมนตรี Jose Ramoa Horta ได้แถลงระหว่างเข้าประชุม ARF ที่มาเลเซียเมื่อเดือนกรกฏาคม 2006 หลังเหตุนองเลือดครั้งสำคัญในต้นปีนั้นว่า  จะขอเข้าอาเซียนอย่างเป็นทางการและขออีก 5 ปีเพื่อเตรียมตัวเป็นสมาชิกสมบูรณ์  แต่แล้วความคึกโครมของเรื่องก็จางหายไป  ขณะที่ภาพความรุนแรงในประเทศติมอร์ฯ ห้วงนั้นกลับปรากฏขึ้น  และเป็นสิ่งที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างเห็นและรู้สึกถึงได้ว่า  ติมอร์ฯ ยังไกลเหลือเกินจากความสงบร่มเย็น  และยากนักที่จะเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนที่ต้องมีพันธะและความรับผิดชอบมากมาย 

อย่างไรก็ดี  สิ่งสำคัญที่พึงบันทึกไว้ก็คือ  ติมอร์ฯ สนใจและแสดงความประสงค์ทางการทูตผ่านผู้นำอินโดนีเซียซึ่งถือเป็นพี่เบิ้มอาเซียนมาแต่วันแรกว่าอยากเข้าอาเซียนฯ  ซึ่งถ้าติมอร์ฯ ติดตามเรื่องต่อเนื่องก็น่าจะเข้าได้ไม่ลำบากนัก  เพราะอินโดนีเซียคงช่วยผลักดันเต็มที่  เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นหนี้ที่ไปสร้างสิ่งเลวร้ายต่อชีวิตและเลือดเนื้อของชาวติมอร์ฯ ไว้หนักหนาสาหัส  ดังนั้น  หากวันใดที่ติมอร์ฯ ได้เข้าอาเซียนแล้วไซร้  ก็เท่ากับทั้งสองประเทศได้ก้าวผ่านบทแห่งความขมขื่นและความทรงจำที่เจ็บปวดไปสู่ห้วงแห่งความสุขและการพัฒนา  และทำให้อินโดนีเซียหลุดจากภาพจอมโหดแห่งภูมิภาคหรือพ้นจากโซ่ตรวนแห่งการถูกกล่าวร้ายโจมตีของตะวันตกในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เคยกระทำต่อติมอร์ฯ ไปได้ในระดับหนึ่ง  ขณะที่ติมอร์ฯ เมื่อได้เข้าอาเซียนก็ถือเสมือนว่าได้หลุดพ้นและทิ้งอดีตเจ็บปวดเพื่อเดินหน้าสร้างบ้านเมืองกันใหม่ภายใต้ความร่วมมือกับอาเซียนต่อไป 

อนึ่ง  ในห้วงระยะเวลานั้น  หากเทียบกับประเทศอย่าง CLMV อื่นที่เข้า ๆ อาเซียนกันมาก่อนหน้านั้นไม่นาน  หลายอย่างยังอุ่นอยู่  และเรื่องต่าง ๆ ยังอยู่ในความทรงจำ  (เวียตนามเข้า 1995, ลาวและพม่าเข้า 1997, และกัมพูชาเข้าเมื่อ 1999) ทำให้โอกาสของติมอร์ฯ นั้นเป็นไปได้อย่างมากถ้าหากมีการผลักดันออกเป็นมติของอาเซียนในการประชุมระดับสูงสุด (ASEAN Summit) ในระยะนั้น  แต่การกลับเป็นว่าติมอร์ฯ ไม่ได้ติดตามด้วยเหตุที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาภายในประเทศ  จนกระทั่งวันที่ 4 มีนาคม 2011 นี้เองที่ประธานาธิบดี Jose Ramos Horta ต้องมาเดินตามกฏด้วยการยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ  ในเวลาที่กฏบัตรอาเซียนออกมาบังคับใช้แล้วกับการรับสมาชิกใหม่ในปี 2008  ทำให้ความยืดหยุ่นทางการเมืองของอาเซียนขาดหายไป  และแม้นตัวประธานาธิบดี Horta จะได้แถลงตามหลังการยื่นใบสมัครว่าติมอร์ฯ หวังจะได้เป็นสมาชิกในปี 2012 ก็ตาม  แต่วันเวลาผ่านไปจนถึงวันนี้แล้ว  ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  ถ้าอย่างนั้นติมอร์ฯ จะต้องรอถึงเมื่อไหร่  หรือต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใด

การรับติมอร์ฯ เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนนั้นอยู่ในระเบียบวาระ  แต่จะเป็นเมื่อไหร่ที่ ASEAN Summit จะตัดสินนั้นคงต้องรอ  หลายประเทศสมาชิกยอมรับว่าติมอร์ฯ อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างชัดเจน   แต่ความที่ติมอร์ฯ เป็นประเทศในกลุ่ม least developed countries ที่ระดับการพัฒนาต่ำ  บางประเทศอาเซียนจึงเชื่อว่าติมอร์ฯ จะมาฉุดดึงอาเซียนให้ถอยหลังมากกว่าที่จะเดินหน้าไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015  ที่อาเซียนมุ่งมั่นจะเป็นตลาดเดียว (single market) ที่เป็นฐานการผลิตหลักที่สำคัญโดยจะก้าวสู่การเป็นภูมิภาคที่มีระดับการแข่งขันสูงภายใต้ระบบเศรษฐกิจการค้าและบริการที่เสรี

ติมอร์ฯ วันนี้มีประชากร 1.1 ล้านคน  ซึ่งแน่นอนว่าหากเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนแล้วติมอร์ฯ จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตลาดการค้าอาเซียนที่มีประชากรถึง 600 ล้านคน  และแทนที่ติมอร์ฯ จะได้เพียงประโยชน์จากการตลาดกับสมาชิก Community of Portuguese Language Countries หรือ CPLP ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของ 8 ประเทศพูดภาษาโปรตุเกสที่มีประชากร 236 ล้านคนแล้ว  เมื่อรวมส่วนของตลาดอาเซียน  จะทำให้ติมอร์ฯ มีตลาดสำหรับสินค้าของตนได้ถึง 836 ล้านคนเลยทีเดียว  อันนี้ยังไม่นับรวมสิทธิพิเศษที่ติมอร์ฯ จะได้จากจีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และหลายประเทศตะวันตกตลอดจนประชาคมเศรษฐกิจยุโรปที่พร้อมให้ความช่วยเหลือในฐานะประเทศ least developed country ตามเกณท์ระหว่างประเทศที่จัดวางกันไว้อีกด้วย  จึงเห็นชัดเป็นอย่างยิ่งว่าโอกาสทองของติมอร์ฯ นั้นรออยู่เบื้องหน้า

กฏบัตรอาเซียนที่มีผลบังคับใช้แล้วได้กำหนดไว้ในมาตรา 6 ว่าด้วยการรับสมาชิกใหม่ว่า  ประเทศนั้นจะต้องตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เป็นที่ยอมรับของอาเซียนทุกประเทศ  ตกลงยินยอมปฏิบัติตามกฏบัตรอาเซียน  และมีความสามารถและความปรารถนาที่จะดำเนินการตามพันธะกรณีในฐานะประเทศสมาชิก  และที่สำคัญที่สุดก็คือ  การรับสมาชิกใหม่จะต้องตัดสินใจโดยฉันทามติของสิบประเทศสมาชิกในการประชุมระดับสูงสุดของอาเซียน

เมื่อเราทะยอยพิจารณาดูทีละประเด็นเห็นชัดว่าเรื่องที่ตั้งชัดเจนเพราะอยู่ส่วนปลายสุดของหมู่เกาะอินโดนีเซีย  กับทั้งเราก็สามารถกล่าวได้ว่าติมอร์ฯ ก็เคยเป็นสมาชิกอาเซียนแล้วเมื่อครั้งอยู่ภายใต้อธิปไตยของอินโดนีเซีย  สำหรับเรื่องการยอมรับก็ชัดเจนนับแต่วันแรกที่อาเซียนให้สถานะผู้สังเกตการณ์แก่ติมอร์ฯ และการรับติมอร์ฯ เข้าเป็นสมาชิก ARF นอกจากนี้  ติมอร์ฯ ยังได้เข้าร่วมการประชุมของอาเซียนด้วยดีเสมอ ๆ เพื่อสร้างเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียน  ดังนั้น  จึงแจ้งชัดว่าติมอร์ฯ ได้เป็นที่ยอมรับของอาเซียน  อนึ่ง ติมอร์ฯ ยังได้เคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญภายใต้ ARF ที่กรุงดิลี  มาแล้วอีกด้วย

นอกจากนี้  ติมอร์ฯ ยังได้ลงนามใน Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia หรือ TAC ด้วยแล้วเมื่อปี 2007  ซึ่งหมายความว่าประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้พร้อมผูกพันและยอมรับต่อแนวคิดว่าด้วยการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก  และกฏเกณท์ต่าง ๆ ที่อาเซียนได้จัดวางไว้  และในส่วนอื่น ๆ  ติมอร์ฯ ยังได้เปิดสำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติติมอร์ฯ ขึ้นที่กรุงดิลี  โดยประเทศสมาชิกอาเซียนต่างร่วมมือให้ความช่วยเหลือทั้งด้านฝึกอบรมบุคคลากรและเทคนิควิธีการในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของอาเซียนเป็นอย่างดี

ดังนั้น  ที่เหลืออยู่เวลานี้ก็คือรอว่าวันใดที่ที่ประชุมสุดยอดของอาเซียนจะออกฉันทามติยอมรับติมอร์ฯ เข้าเป็นสมาชิก  ซึ่งหากวิเคราะห์ลงไปแล้วจะเห็นว่า  เวลานี้มิใช่เรื่องของอาเซียนที่จะตัดสิน  แต่เป็นเรื่องของติมอร์ฯ เองมากกว่าที่จะแสดงความพร้อมในทุกด้านออกมาให้อาเซียนเห็นต่างหาก  เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในการที่ติมอร์ฯ จะสามารถประกอบกิจกรรมทั้งหลายทั้งมวลร่วมกับอาเซียนได้นั้น  ติมอร์ฯ ต้องมีทรัพยากรบุคคลที่พร้อมสรรพ  โดยต้องได้บุคคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมและเรียนรู้เรื่องอาเซียนที่พร้อมปฏิบัติงานของกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ได้  แต่วันนี้ติมอร์ฯ ยังมีคนจำกัด  และคนที่มีก็ยังมีความสามารถหรือความรู้เรื่องอาเซียนอย่างจำกัดอีกด้วย  

อาเซียนมีการประชุมในสาขางานหรือวิชาการด้านต่าง ๆ รวมปีหนึ่งประมาณ 600 วัน  บ้างก็ว่ามากถึง 800 วัน  ซึ่งการประชุมจำนวนมากมายเหล่านี้  ต้องการให้ทุกประเทศสมาชิกเข้าร่วมเพื่อพิจารณาและตัดสินเพื่อให้งานก้าวเดินต่อไป  หากการประชุมใดขาดเสียซึ่งสมาชิกเพียงประเทศเดียว  เรื่องที่เข้าสู่การพิจารณาของการประชุมนั้นก็ต้องชะงักงันไป  ด้วยเหตุนี้   ติมอร์ฯ จึงต้องมีคนพร้อม  แล้วภาษาอังกฤษก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่น้อย  เนื่องจากการประชุมอาเซียนได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทำงาน  แต่ติมอร์ฯ ยังมีผู้รู้ภาษาอังกฤษแตกฉานไม่มากพอ  แต่ก็ทราบว่าติมอร์ฯ กำลังเร่งเสาะหาหรือแก้ไข  โดยเวลานี้  ติมอร์ฯ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประเทศสมาชิกและประเทศคู่เจรจา หรือ Dialogue Partners ต่าง ๆในการพัฒนาด้านภาษา เทคนิคการทำงาน และระบบสารสนเทศสมัยใหม่อื่น ๆ เพื่อให้เกิดความพร้อมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้  เวลานี้จึงเป็นความท้าทายเสียยิ่งกว่าเป็นโอกาสที่ติมอร์ฯ กำลังเผชิญในการเข้าสู่อาเซียน  แต่ด้วยผลประโยชน์และความยิ่งใหญ่ที่จะตามมา  ติมอร์ฯ คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง  โดยมีมิตรประเทศโดยเฉพาะไทยและอินโดนีเซียที่ให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด  ทำให้โอกาสเข้าอาเซียนของติมอร์ฯ คงมาถึงได้ในไม่ช้า