Saturday, November 3, 2012

ภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้านกับประชาคมอาเซียน

เมื่อกล่าวถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษ  ถ้าหากกล่าวในกรอบกว้างโดยพิจารณาถึงกระแสโลกาภิวัตน์ที่กำลังร้อนแรงอยู่ในเวลานี้แล้ว  แน่นอนว่าภาษาอังกฤษยังสำคัญยิ่งยวดในการติดตามวิทยาการสมัยใหม่ตลอดจนข่าวสารสนเทศและความเป็นไปของโลกที่พัวพันกับวิถีชีวิตของคนไทยยุคปัจจุบัน  และถ้ากล่าวโดยเปรียบเทียบกับภาษาเพื่อนบ้านแล้ว  ภาษาเพื่อนบ้านย่อมมีความสำคัญน้อยกว่าภาษาอังกฤษไม่ว่าจะในวงวิชาการหรือในเรื่องอื่น ๆ  ด้วยผู้คนต่างก็ยังยึดถือภาษาอังกฤษออกหน้าออกตากว่าภาษาเพื่อนบ้านอย่างเห็นได้ชัด  แต่เมื่อท่านนำสองเรื่องคือภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้านมาเชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่ในประชาคมอาเซียนแล้ว  ย่อมกลายเป็นหัวข้อเรื่องใหญ่ที่ท้าทายต่อการถกแถลงเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษและ การใช้ภาษาเพื่อนบ้านสำหรับคนไทยเราในอนาคตเมื่อประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเป็นอย่างมาก 

เพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจเป็นขั้นเป็นตอน  จึงขอลำดับประเด็นเรื่องที่จะกล่าวออกเป็น 7 ประเด็นด้วยกันคือ  ประชาคมอาเซียนจะเกิดในปี 2558  ต้องอาศัยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน  ซึ่งการเชื่อมโยงประชาชนนั้นสำคัญสุด  จากนั้นเป็นเรื่องภาษาอาณานิคมและภาษาท้องถิ่น  ตามด้วยประเด็นว่าภาษาอังกฤษเติบโตมากับอาเซียน รวมถึงดูความเข้มของภาษาอังกฤษกับพัฒนาการของอาเซียน  และปิดท้ายด้วยมุมมองต่อภาษาท้องถิ่นกับอนาคตอาเซียน

ประชาคมอาเซียนจะเกิดในปี 2558

ทุกท่านทราบกันมาเป็นอย่างดีแล้วว่า  อาเซียน 10 ประเทศมีเป้าหมายจะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558  ที่ประชาคมอาเซียนจะประกอบด้วยเสาค้ำสำคัญ 3 เสา  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง  ประชาคมอาเซียนจะเป็นประชาคมไปไม่ได้ถ้าไม่มีความสำเร็จของ 3 เสาหลัก  คือการเมืองความมั่นคง  เศรษฐกิจ  และสังคมวัฒนธรรม

3 เสาหลักมีความสำคัญทุกเสา  มีพลังค้ำยันที่แข็งแกร่งก็ต้องแข็งแกร่งทุกเสา  ซึ่งหากดูตัวอย่างง่าย ๆ เพื่อให้เห็นภาพ  ก็คือเก้าอี้เล็กที่มี 3 ขา  ต้องมั่นคง  ไม่อย่างนั้นคุณอาเซียนจะนั่งไม่ได้  แต่ถ้ามั่นคง  คุณอาเซียนจะเอนไปซ้ายนิดขวาหน่อย  ก็ firm ไม่ล้มหงาย  เพราะแต่ละขาจะสัมพันธ์กำลังรับกันอย่างมีดุลภาพ  การที่เก้าอี้เล็กมี 3 ขาหลัก  ย่อมนำมาซึ่ง ความสามารถในการแข่งขันสูง  เปรียบเสมือนจำเป็นไม่แต่เพียงรองนั่ง  คุณอาเซียนยังอาจขึ้นไปยืนบนเก้าอี้เล็ก 3 ขาเพื่อหยิบหรือเขี่ยสิ่งของที่ต้องการที่อยู่สูงขึ้นไปได้อีกด้วย

แต่การจะร่วมกันสร้างความแข็งแกร่งให้กับทั้ง 3 เสาเพื่อให้สามารถในการแข่งขันสูงได้  ต้องมีกติกาชัดเจน  มิใช่ต่างคนต่างทำ  และเมื่อมีกติกาชัดเจนก็ต้องเด่นชัดว่า  ทั้งหลายทั้งมวลทำเพื่อประชาชนคนในประชาคมอาเซียน  มิใช่เพื่อต่างชาติ (นอกอาเซียน) หรือประเทศที่สาม  หรือบริษัทข้ามชาติใด ๆ  ด้วยเหตุนี้  ทุกเรื่องที่ทำต้องมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง  และนี่เองที่เป็นที่มาของการออกกฎบัตรอาเซียน  ที่จะเปรียบก็เหมือนการมีธรรมนูญของอาเซียนนั่นเอง

กฎบัตรหรือธรรมนูญอาเซียนประกาศและมีผลบังคับใช้เมื่อ 2551 เป็นการบอกชาวโลกและเตือนพวกเรากันเองว่าต่อแต่นี้ไป  เรามิใช่จะรวมตัวสัมพันธ์กันอย่างหลวม ๆ อีกแล้ว  แต่จะมีเป้าหมายชัดเจน  จะโตด้วยกันรวยด้วยกัน  และจะไปในทิศทางใดก็จะไปด้วยกัน  ซึ่งจะเป็นการไปอย่างมีขั้นตอนมีกฎระเบียบกำกับชัดเจน  ทำให้อาเซียนมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่มีสิทธิมีหน้าที่  มีหลักเกณท์การรับสมาชิกใหม่ที่เมื่อประเทศใดใหม่ประสงค์เข้ามาต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกประเทศสมาชิก  ทั้งนี้  อาเซียนต้องก้าวหน้าด้วยทุกประเทศต้องปฏิบัติตามพันธะและต้องออกกฏหมายภายในรองรับ  นอกจากนี้  เวลามีความขัดแย้งก็มีหลักเกณท์ในการแก้ไข  หรือใครทำผิดก็ตัดสินลงโทษกันได้  ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่ปรากฏในกฏบัตร  แต่ทำได้จริงคงเป็นอีกเรื่องที่ต้องติดตาม

ต้องอาศัยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน

เมื่อตกลงปลงใจจะกอดคอกันเป็นประชาคมอาเซียน  โดยหวังให้มีเสาหลัก 3 เสาค้ำยันนั้น  มาจากเหตุผลสำคัญคือ (ก) ให้ทุกประเทศอุ่นใจไม่ขัดแย้งหรือหากขัดแย้งก็มีหนทางแก้ไข  เพราะมีเสาหลักการเมืองความมั่นคง  (โดยในประชาคมมีบรรยากาศเป็นประชาธิปไตย  มีความยุติธรรมและมีความปรองดองและรักสันติกับโลกภายนอก)  และ (ข) ให้ทุกประเทศอุ่นใจไม่จนไม่ขัดสน  เพราะมีเสาหลักเศรษฐกิจ  (ที่มีตลาดและฐานการผลิตเดียวกันซึ่งแน่นอนว่าต้องใหญ่และทำให้เศรษฐกิจรวมเข้มแข็งสามารถแข่งขันในระบบเศรษฐกิจโลกได้) ตามด้วย (ค) ให้ทุกประเทศอุ่นใจด้วยสังคมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (เพราะลูกหลานมีการศึกษาและความเป็นมนุษย์ที่ไม่จัดสนจนยากแถมเปี่ยมล้มด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชน) 

แต่ที่กล่าวไว้ข้างต้นจะเกิดได้  10 ประเทศอาเซียนที่แยกกระจายจากเหนือสู่ใต้  หรือจากออกสู่ตก  ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลด้วยประชากรกว่า 600 ล้านคน  จะต้องเชื่อมโยงกัน 

เหตุนี้เองที่ประเทศไทยในปี 2553 จึงได้เสนอแนวคิดว่าด้วยความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน หรือ ASEAN Connectivity ขึ้น  เพื่อเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของประชาคมอาเซียน  และนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558  โดยในการนี้  อาเซียนยังได้จัดทำแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน หรือ ASEAN Master Plan on ASEAN Connectivity

เชื่อมโยงประชาชนนั้นสำคัญสุด

ภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน หรือ Master Plan ดังกล่าวข้างต้น  จะมีองค์ประกอบหลัก คือ
·      1.  ความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน  คมนาคม เทคโนโลยีและการสื่อสารพลังงาน  ซึ่งคาดว่าจะก่อเกิดประโยชน์มากมายในกลุ่มประเทศสมาชิกทางการขนส่งและโลจิสติกส์  ไปมาหากันโดยสะดวกรวดเร็ว  ทำให้ค้าขายแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น  กระตุ้นทั้งในอาเซียนและจากภายนอกให้สนใจเข้ามาร่วม
·      2.  ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ  ซึ่งได้แก่การตกลงร่วมกันด้านข้ามพรมแดน  พิธีการขนส่ง  ตลอดจนกฎระเบียบว่าด้วยการบริการและการค้าไปมา
·      3.  ความเชื่อมโยงด้านประชาชน  ไม่ว่าจะเชื่อมกันด้านการศึกษาและวัฒนธรรม  ที่มีเรื่องของการท่องเที่ยว  การไปมาหาสู่  ที่จะทำได้บ่อยและสะดวกรวดเร็ว
แต่ทั้งหมดนี้  เราต่างต้องยอมรับว่า  การเชื่อมโยงประชาชนอาเซียนในข้อท้ายสุดนี้ที่สำคัญ  และจะให้เชื่อมโยงกันแนบแน่น  ต้อง เชื่อมใจกันให้ได้  ซึ่งนอกจากใช้สายตามองกันไปมาแล้ว  ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของ ภาษา ที่จะเป็นสื่อกลาง เชื่อมใจของเหล่ามวลมิตร

ภาษาอาณานิคมและภาษาท้องถิ่น

ถ้าจับทั้ง 10 ประเทศอาเซียนมาวางบนแผ่นกระดาษ  จะเห็นกลุ่มลุ่มน้ำโขงบนพื้นแผ่นดินกลุ่มหนึ่ง  กับกลุ่มเกาะแก่งในมหาสมุทรแปซิฟิคอีกกลุ่มหนึ่ง  ซึ่งประเทศที่อยู่ในกลุ่มทั้งสอง  ต่างเคยตกเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดินิยมมานับสิบนับร้อยปีกันเป็นส่วนใหญ่  ทำให้ภาษาของประเทศเจ้าอาณานิคมหรือประเทศแม่  ถูกนำมาบังคับใช้กับกลุ่มคนชั้นนำและผู้ปกครองชุมชนต่าง ๆ ของประเทศเหล่านี้มายุคถูกยึดครอง  ทั้งเพื่อสั่งและเพื่อสอน  ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือภาษาดัชท์  โดยภาษาท้องถิ่นมีใช้กันแต่ก็ไม่อาจเทียบเคียงความสำคัญกับภาษาเจ้าอาณานิคมได้ 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  เกิดลัทธิชาตินิยมและต่อต้านอาณานิคมด้วยการเรียกร้องเอกราช  ทำให้ประเทศที่ได้เกิดใหม่ต่างรังเกียจภาษาของเจ้าอาณานิคมอยู่ในระดับหนึ่ง  ที่ทำให้มีการนำภาษาท้องถิ่นกลับมาใช้ในราชการ  และลดความสำคัญของภาษาอาณานิคมลง  เป็นเหตุให้ประชาชนใน generation ต่อมา  ไม่รู้ภาษาอาณานิคมเหมือพ่อแม่ปู่ย่าตาทวด  ดังจะเห็นได้จากพม่า เวียตนามหรืออินโดนีเซียเป็นตัวอย่าง

การเกิดใหม่ของบางประเทศในกลุ่มอาเซียนในครั้งนั้น  ต้องหาเครื่องมือในการรวมชาติด้วยประเทศมีหลากหลายเชื้อชาติ  ครั้นจะเอาภาษาใดภาษาหนึ่งมาย่อมไม่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป  ดังนั้น  ภาษากลางที่ทุกฝ่ายยอมรับจึงกลับเป็นภาษาเจ้าอาณานิคม  ดังจะเห็นได้จากในสิงคโปร์และมาเลเซีย  ที่ภาษาอังกฤษถูกนำมาใช้เพื่อเอกภาพตราบเท่าทุกวันนี้  จึงไม่แปลกใจว่าทำไมทั้งสองประเทศนี้ถึงใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก  อย่างไรก็ดี  ทุกประเทศในอาเซียน (ยกเว้นสิงคโปร์) ต่างก็ไม่ทิ้งภาษาท้องถิ่นเดิม  และมีการปรับเป็นภาษาราชการ  ซึ่งคุณสมบัติสำคัญของภาษาท้องถิ่มเดิมเหล่านี้ก็คือ  ต้องเป็นภาษาที่อ่านและเขียนได้ 

ภาษาอังกฤษเติบโตมากับอาเซียน

การเข้ามาของภาษาอังกฤษในภูมิภาคอาเซียน  มีมูลเหตุจากอิทธิพลของเจ้าอาณานิคมอังกฤษในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่ภาษาอังกฤษถูกนำมาใช้ในราชการ  ถูกนำมาสอนให้ผู้นำหรือหัวหน้าชุมชนที่ทำหน้าที่ช่วยในการปกครอง  ที่จะได้สื่อกับนายตะวันตกหรือถ่ายทอดความต้องการไปสู่ประชาชนในท้องถิ่นได้  นอกจากนี้  ภาษาอังกฤษยังเป็นภาษาที่ผู้ปกครองของอาณาจักรหรือเมืองต่าง ๆ สนใจศึกษาเรียนรู้  เพื่อตามพฤติกรรมของตะวันตกได้ทัน  กับทั้งเพื่อยกระดับของตนให้สูงเทียมตะวันตกผู้มีอารยธรรม  ในการนี้  ยังได้ส่งบุตรหลานของตนไปศึกษาภาษาอังกฤษในประเทศอังกฤษหรืออาณานิคมของอังกฤษเช่นสิงคโปร์หรือปีนัง  ทำให้เป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสเลื่อนชั้นในสังคมได้อย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา  ดังจะเห็นได้จากชื่อเสียงและความมั่งคั่งของข้าราชการหรือพ่อค้านักธุรกิจที่เติบโตในต่างประเทศ  ซึ่งประเทศไทยเป็นตัวอย่างอันดีของเรื่องนี้

เมื่อภาษาอังกฤษเป็นมรดกตกทอดของเจ้าอาณานิคมที่ยิ่งใหญ่  และกลายเป็นภาษาที่หลากเชื้อชาติยอมรับ  รวมทั้งกลายเป็นภาษาแห่งเกียรติยศแห่งชนชั้น  จึงทำให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มอาเซียนชุดแรก (6 ประเทศ ประกอบด้วยมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทยและบรูไน) ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางหรือภาษาทำงาน (working language) ของอาเซียนมาตั้งแต่ก่อตั้งอาเซียน  โดย working language หมายถึงภาษาที่ใช้ในการพูด  อ่าน หรือเขียนทั้งในการประชุม หรือในเอกสารหรือรายงานการประชุม หรือในการสื่อสารถึงกันอย่างเป็นทางการในรูปแบบอื่น ๆ ที่รวมถึงการใช้ติดต่อกับประเทศภายนอกอาเซียนในนามของอาเซียนอีกด้วย   

ความเข้มของภาษาอังกฤษกับพัฒนาการของอาเซียน

สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน  ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ณ บ้านพักรับรองชายหาดบางแสน  โดย 5 รัฐมนตรีอาเซียนวันนั้นตระหนักดีถึงสถานการณ์โลกที่เกิดแบ่งเป็นค่ายเสรีและค่ายคอมมิวนิสต์  เห็นพิษร้ายจากสงครามเย็น  และเห็นภัยร้ายจากความขัดแย้งไม่ไว้วางใจกันและกันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ด้วยยังเป็นวันที่อินโดนีเซียเพิ่งขัดแย้งและทำสงครามมากับมาเลเซีย (2506-2508) มาหมาด ๆ ในปัญหา Kalimantan กับเขตพื้นที่ Salawak ที่ขยายวงความรุนแรงไปถึง Singapore-Malay Peninsula ขณะที่ฟิลิปปินส์ก็ขัดแย้งกับมาเลเซียและพยายามขัดขวางมาเลเซียไม่ให้ผนวกรวม Sabah เข้าอยู่ในสหพันธ์มาเวเซีย  ในจังหวะที่สิงคโปร์เวลานั้นอยู่ใต้มาเลเซียอย่างอึดอัดจนที่สุดถูกขับออกมาเป็นอีกประเทศหนึ่งในปี 2508  ทั้งนี้  ยังไม่นับรวมสงครามในอินโดจีนที่กำลังเข่นฆ่ากันอย่างอึกทึกครึกโครมต่อ ๆ มา

5 รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในวันก่อตั้ง  เห็นความไม่ปลอดภัยในและรอบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และเห็นถึงความบาดหมางไม่วางใจกันและกันอยู่ในทีของเหล่าอาเซียน  จึงครุ่นคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน  วันนั้นภาษาที่พูดคุยกันใช้ภาษาอังกฤษ  ผลจากการคุยกันวันนั้นนำไปสู่การก่อตั้งอาเซียนอย่างเป็นทางการ  และทุกรัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวสุนทรพจน์เป็นภาษาอังกฤษ 

ดร.ถนัด คอมันต์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยก็กล่าวในโอกาสนั้นความว่า  สิ่งที่เราตัดสินใจในวันนี้  เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของสิ่งที่เราหวังว่าจะนำมาซึ่งความสำเร็จต่อเนื่องในระยะยาว  ซึ่งเราและผู้ที่มาร่วมกับเราในภายหลังจะเกิดความภาคภูมิใจ


คำพูดของ ดร. ถนัดฯ เมื่อ 45 ปีก่อน  เป็นเสมือน road map ของการก่อร่างสร้างตัวของอาเซียน  ซึ่งเห็นชัดเจนกันในเวลาต่อมา  กล่าวคืออาเซียนได้จัดตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือกลุ่มปฏิบัติงานต่าง ๆ มากมาย  โดยคณะกรรมการต่าง ๆ มีการประชุมกันปีละกว่า 400 วันทั้งในระดับผู้เชี่ยวชาญไปจนถึงระดับอาวุโส  แต่เป้าประสงค์ในห้วง 10-20 ปีแรกมุ่งหวังเพียงให้อาเซียนมาพบปะเจอะเจอกันเพื่อสร้างความคุ้นเคยและค่อย ๆ ลดความหวาดระแวงต่อกันมากกว่าเอาจริงหรือเอาเป็นเอาตายในเรื่องของสาระ  ภาษาอังกฤษที่ใช้ในห้วงแรก ๆ จึงมีรูปแบบการเขียนโดยพยายามใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่าย (ซึ่งว่าไปก็เป็นเรื่องยาก)  อย่างไรก็ดี  อาเซียนจะมาเข้มข้นดูภาษาอังกฤษกันอย่างละเอียดจริงจังก็เมื่ออาเซียนเข้าสู่การประชุมหารือในเรื่องเศรษฐกิจการค้าในห้วงปีที่ 20-ปัจจุบันนี้เอง  เนื่องจากเกี่ยวข้องกับกระเป๋าหรือ dollar and cent รวมทั้งเมื่อกลุ่ม CLMV เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่เพิ่ม  ประเทศเข้าใหม่เหล่านี้ก็ต้องฝึกฝนเรื่องภาษาอังกฤษเพื่อใช้สื่อกับราชการอาเซียนทั้งหลายให้ได้นั่นเอง

ภาษาอังกฤษจึงกลายเป็นภาษาทำงานหรือ working language ของทั้ง 10 ประเทศที่จะใช้พูด เขียนหรือบันทึกในงานประชุมหารือหรือในการติดต่อโต้ตอบกันในหมู่ข้ารัฐการหรือข้าราชการของเหล่าประเทศสมาชิก  ทำให้หลายประเทศที่ได้เปรียบด้วยใช้กันมาแต่ยุคอาณานิคมก็จะได้เปรียบขณะที่ประเทศที่ไม่ได้ใช้มาก่อน  ก็จะถนัดน้อยกว่าในเวลาประชุมหรือพูดจากัน  แต่อย่างไรก็ดี  ภาษาอังกฤษอาเซียนเป็นภาษาที่มีถ้อยคำสำนวนที่ใช้ซ้ำ ๆ ด้วย patern เดิม ๆ ทำให้ไม่ยากที่จะทำความเข้าใจทั้งในหมู่สมาชิกเก่าที่ไม่เคยเป็นอาณานิคม อังกฤษอเมริกาหรือในหมู่สมาชิกใหม่ที่ไม่เคยใช้ภาษาอังกฤษมาก่อนก็ตาม  และที่สำคัญ  เมื่อมีการประชุมแล้วต้องจัดทำรายงาน  แน่นอนว่าประเทศเจ้าภาพก็จะคิดสรรข้าราชการที่รู้ภาษาดีมาจดมาทำรายงาน  และถ้าไม่ไหวจริงด้วยเรื่องที่ถกแถลงกันยากหรือละเอียดซับซ้อน  ที่ประชุมก็มักตั้งคณะยกร่างหรือ drafting committee ของการประชุมขึ้น  ซึ่งช่วยได้เป็นอย่างมาก 

โดยเหตุที่อาเซียนมีการประชุมกันมากมายทั้งปีไม่มีว่างเว้น  บุคคลากรของทุกประเทศที่ต้องเกี่ยวข้องกับงานอาเซียนไม่ว่าจะไป จากกระทรวงการต่างประเทศหรือกระทรวงทบวงกรมที่ดูแลเรื่องที่เกี่ยวข้อง กับการประชุมก็จะเรียนรู้สร้างสมประสบการณ์  นานวันเข้าภาษาทำงานของอาเซียนก็เป็นเรื่องที่สมาชิกซึมทราบและใช้กันเป็นปกติ  นั่นขอย้ำว่าทั้งหมดที่กล่าวมานี้  ภาษาอังกฤษถูกใช้กันในหมู่ผู้เกี่ยวข้องหรือให้ชัดก็คือข้ารัฐการหรือข้าราชการของประเทศต่าง ๆ ซึ่งคนเหล่านี้มีการศึกษาดีและคัดสรรมาแต่แรกเข้า  จึงรู้ภาษาอังกฤษและใช้ภาษานี้กับงานในแวดวงอาเซียน

การใช้ภาษาอังกฤษในแวดวงอาเซียนหมายความว่าพูดหรือเขียนหรืออ่านกันในเรื่องที่กำหนดคิดอ่านกันมา  เช่นชาวนาเวียตนามจะให้รัฐบาลเวียตนามช่วยให้ราคาข้าวดี  ก็ผลักดันเรื่องนี้  รัฐบาลเวียตนามเห็นว่าการตั้งสำรองข้าวยามฉุกเฉินอาเซียน  จะเป็นวิธีการดึงข้าวให้หายไปแล้วทำให้เกิด demand ข้าวระดับหนึ่งซึ่งที่สุดจะช่วยให้ราคาข้าวดี  ก็จะเสนอเรื่องให้กระทรวงเกษตรเวียตนามคิดกลไกหรือ scheme สำหรับอาเซียนขึ้นมา  ทั้งหมดคิดกันเป็นภาษาเวียตนาม  แล้วก็ส่งต่อให้กระทรวงการต่างประเทศเวียตนามร่วมทีมกับนักวิชาการ หรือข้ารัฐการจากกระทรวงเกษตรเวียตนามไปประชุมในกรอบคณะกรรมการด้านการเกษตร อาเซียน  เขาเหล่านั้นก็จะนำ idea เวียตนามแต่พูดออกมาเป็นภาษาอังกฤษในที่ประชุม  แล้วได้ความอย่างไร  ก็กลับฮานอยมาถ่ายทอดให้รัฐบาลหรือชาวนาเวียตนามเป็นภาษาเวียตนามต่อไป  สรุปคือภาษาอังกฤษยังเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในงานอาเซียนในกรอบงานภาครัฐเสียเป็นส่วนสำคัญ  คนเดินดินกินข้าวแกงหรือแม้แต่พ่อค้านักธุรกิจทั่วไป  ก็ไม่จำเป็นต้องพูดได้ลึกหรือเชี่ยวชาญถึงจะอยู่ได้  แต่ที่จะอยู่ไม่ได้ก็เพราะไม่รู้ว่าอาเซียนพัฒนาไปถึงไหน  แล้วอะไรออกมาใหม่ ๆ กระทบตัวเองอย่างไรเสียมากกว่า

อนาคตอาเซียนกับความสำคัญของภาษาท้องถิ่น

เวลานี้  ไม่ว่าจะเดินเหินไปที่ไหน  เราก็จะได้ยินเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558  และตามมาด้วยความวิตกว่าคนไทยเราไม่รู้ภาษาอังกฤษแล้วจะเสียเปรียบเมื่อวันที่รวมเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว  โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันถึงกับกำหนดให้ปี 2555 นี้เป็นปีแห่งการพูดภาษาอังกฤษ หรือ English Speaking Year ที่ให้มีกิจกรรมหนึ่งวันทุกสัปดาห์ว่าด้วยการใช้ภาษาอังกฤษกันทุกโรงเรียน 

การจะรู้ภาษาอังกฤษให้ดีสัปดาห์ละหนึ่งวันคงช่วยไม่ได้  และการจะดีในภาษาอังกฤษได้ต้องใช้หลัก repetition หรือกระทำซ้ำ ๆ กับทั้งจะต้องมีครูดี เครื่องมือการสอนการถ่ายทอดที่ดี  และที่สำคัญ  จะต้องมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ภาษาอังกฤษมากที่สุด  ทำให้การเร่งรัดเรื่องภาษาอังกฤษเป็นเรื่องพูดง่ายแต่ทำยาก  แต่ที่สุด  หากมีปาฏิหาริห์ที่ทำให้คนไทยรู้ภาษาอังกฤษดีได้ในสามปีห้าปี  ภาษาอังกฤษก็น่าจะเป็นเสมือนแหวนทองคำในกระเป๋า หรือ treasure มากกว่า
 
การมีแหวนทองคำในกระเป๋ามีข้อดีคือเมื่อหยิบขึ้นสวมใส่ก็ดูสวยงามสดุดตาสดุดใจผู้พบเห็น  และเมื่อจนนำออกขายก็ได้เงินทองมาเจือจุน  ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศในฐานะหน่วยงานหนึ่งในรัฐบาลที่ข้องเกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษ  ก็ได้พยายามสนองนโยบายของรัฐบาลในเรื่องให้คนไทยได้รู้ได้เรียนภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น  เพื่อให้ตามกระแสประชาคมอาเซียนให้ทัน

ถ้ามองอย่างกว้าง  ภาษาอังกฤษจากอดีตถึงปัจจุบันและต่อไปในอนาคต  ยังคงเป็นภาษาหลักและภาษาราชการของหลายประเทศในอาเซียน  รวมทั้งจะเป็นภาษาทำงาน (working language) ของอาเซียนตามที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรอาเซียน  และไม่น่าจะมีภาษาท้องถิ่นอื่นใดขึ้นมาทดแทนได้  แม้วันนี้จะมีการพูดกันว่ามาเลย์หรืออินโดนีเซียจะเอาภาษาบาฮาซาร์มาใช้ในอาเซียน  ซึ่งก็คงใช้พูดทักทายไปมาบ้าง  แต่คงไม่มีวันยกระดับขึ้นมาทดแทนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาทำงานได้  เนื่องจากเป็นการยากและเสียเวลามหาศาลที่จะมาเรียนรู้หรือให้การยอมรับ  ยิ่งมีข่าวว่าภาษาจีนจะเข้ามาด้วยยิ่งยากและคงเป็นไปไม่ได้ในระยะอันใกล้  แต่ถ้าจะอ้างว่าเหมือนภาษาที่ใช้กันในสหประชาชาติก็ต้องตกลงกันว่าจำเป็นไหม  ซึ่งก็ต้องพิจารณากันไปและหากจะเป็นจริงก็คงอีก 100 ปีกระมัง

อาเซียนก่อตั้งมานานถึง 45 ปี  และในอีกสองถึงสามปีก็จะเป็นประชาคมอาเซียน  ซึ่งเป็นประชาคมก็มิใช่รวมกันแต่เป็นเพียงการสร้างโอกาสใหม่ให้แลกเปลี่ยนกันได้ง่ายมากขึ้น  กฎระเบียบต่าง ๆ ยังคงอยู่และดูเหมือนจะมีเพิ่มเติมอีกมาก  อาทิ กฎระเบียบว่าด้วยเขตอุตสาหกรรม  กฎระเบียบว่าด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ  การจ้างงาน  กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน  การ privatization  การปฏิรูปเศรษฐกิจการค้า ฯลฯ  เหล่านี้  ประเทศต่าง ๆ ที่นอกจากจะตรากฎหมายต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นภาษาราชการของตนแล้ว  แน่นอนว่าจะต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษไว้คู่เคียงเพื่อประเทศสมาชิกและนอกอาเซียนจะสามารถอ่านได้ 

ด้วยเหตุผลข้างต้น  นักธุรกิจพ่อค้าและบริษัทของไทย  จำเป็นต้องมีกลุ่มบุคคลหรือเป็นทีมงานที่สุมหัวกันเป็นโต๊ะภาษาอังกฤษเพื่องานอาเซียน  แล้วเข้าไปศึกษาติดตามหรือวิเคราะห์ถ้อยคำต่าง ๆ ตามตัวบทของกฎระเบียบที่อ้างถึงข้างต้น  ดังนั้น  ภาษาอังกฤษ  หากคนไทยพูดได้มากพูดได้ดี  หรือยิ่งถึงขั้นแตกฉานย่อมได้เปรียบในการเรียนรู้และทำความเข้าใจ  และใช้ประโยชน์ตามช่องทางต่าง ๆ ได้มากเป็นเงาตามตัว  แต่ทั้งนี้  ถ้าจะให้ได้เปรียบสูงสุด  ก็คงจะต้องเข้าใจถึง ใจของเพื่อนบ้านที่เราจะไปลงทุนค้าขายกับเขาด้วย  และการจะเข้าถึง ใจของเขาก็ต้องด้วยภาษท้องถิ่นเป็นสำคัญ


มีผู้ตั้งคำถามเสมอ ๆ ว่าภาษาท้องถิ่นเพื่อนบ้านนั้นสำคัญ  ทำไมเราไม่สนใจภาษาเขาหรือ  ทั้งที่ประเทศนั้นสร้างชาติสร้างประเทศมานานนับร้อยปี  ย่อมมีนักปราชญ์ผลิตงานเขียนทรงคุณค่าทั้งวิชาการ วรรณคดีหรือทางวัฒนธรรมมากมาย  แถมฝรั่งตาน้ำข้าวเขาแห่กันมาสนใจแต่บ้านติดกับไทย  ไทยเราจะไม่สนใจจริงจังกันหรือ

ภาษาอังกฤษในวันนี้ถูกกล่าวถึงในความสำคัญอย่างยิ่งใหญ่  ในสื่อในบทความทางวิชาการหรือในเวทีสัมมนาพูดคุยทั้งในกรอบภาครัฐหรือวงการของเอกชนก็พูดถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษกันไม่ขาดปาก  เสมือนเป็นสิ่งที่ต้องเร่งรีบทำให้ได้เรียนให้ดีรู้ให้แตกฉานให้แล้วเสร็จให้ทันปี 2558 มิเช่นนั้นจะเสียหาย  ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการวาดภาพที่น่ากลัวเกินหรืออาจไปถึงขั้น mislead หรือชักนำผิดทางหรือทำให้เข้าใจผิด ๆ ได้  ทั้งนี้เพราะวันที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็คือวันที่คนไทยได้เปิดใจรับรู้หรือ felt (รู้สึกประหนึ่งได้สัมผัส) ดีพอแล้วกับ ประชาคมอาเซียน

ขออธิบายด้วยการยกตัวอย่าง  เหมือนฝนที่เคยตกหนักกันอยู่ทางภาคเหนือตอนล่างแล้ววันนี้น้ำนั้นได้ไหลหลากมาถึงอยุธยา  แน่นอนว่าน้ำจะต้องไหลต่อมาท่วมบ้านตนที่นนทบุรีเป็นแน่แท้  ซึ่งสิ่งนี้คนที่อาศัยอยู่ที่นนทบุรีรู้ดีว่าอะไรจะเกิด  และเกิดจากอะไร  แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป  ดังนั้น  การรู้สึกประหนึ่งได้สัมผัสถึงน้ำที่จะมาท่วมที่บ้านตนแล้วจะรับมืออย่างไร  จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด  หมายความว่า  จู่ ๆ เช้าวันหนึ่งในปี 2558   มีคนฟิลิปปินส์มาสอนหนังสือมากหูมากตาแถวสยามสแควร์  เป็นเหตุให้ครูไทยถูกเชิญให้ออก  หรือจู่ ๆ มีน้ำปลาเวียตนามมาตั้งขายที่เทสโก้ราคาถูกกว่าตราปลาฉลามครึ่งต่อครึ่ง  แล้วไม่นานก็ได้ยินว่าโรงงานน้ำปลาตราปลาฉลามต้องปิดตัวลง  หรือหมอฟันที่ปากซอยที่ยังรักษารากฟันเราค้างอยู่หายตัวไปทำที่สิงคโปร์แล้วเราต้องไปเสียค่าทำฟันใหม่ที่แพงกว่าเดิม  เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องรู้ที่มาที่ไป  ซึ่งการจะรู้ที่มาที่ไป  ต้องรู้หรือได้เรียนได้รับฟังให้เข้าใจดีในเรื่องอาเซียนหรือผลที่จะตามมาจากการเกิดประชาคมอาเซียนเสียแต่เนิ่น ๆ

ถ้ารัฐบาลจะโยนงบประมาณเร่งด่วนไปเร่งสอนให้เด็กหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่รู้ภาษาอังกฤษกันอย่างเอิกเกริกสัปดาห์ละ 1 วันนั้นเป็นเรื่องดี  แต่คงไม่ได้อะไร  แต่หากนำงบประมาณก้อนเดียวกันนี้ไปใช้กับการจัดหาครูอาจารย์ที่รู้ดี รู้จริงเรื่องประชาคมอาเซียนมาสอนเด็กหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่โดยถือเป็นหลัก สูตรเร่งด่วนแล้ว  ย่อมจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า  แต่ทั้งนี้  ก็มิใช่เลิกเรื่องภาษาอังกฤษ  เพียงแต่ปล่อยเรื่องภาษอังกฤษให้ค่อย ๆ พัฒนาไป  ไม่ต้องไปตกใจผลีผลาม  เพราะเวลานี้บ้านเมืองไทย  ก็มีผู้รู้ภาษาอังกฤษระดับเยี่ยมอยู่มากในทุกองค์กรหลากหลายสถาบัน  ที่จะเข้าสู่การเจรจาดูแลผลประโยชน์กับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนหรือกับประเทศหรือองค์กรใด ๆ นอกอาเซียนได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว  เฉกเช่นเดียวกับที่เคยทำกันนับแต่ก่อตั้งอาเซียนเมื่อ 45 ปีที่ผ่านมา

อนึ่ง  การที่เราเกิดมาไม่รู้ภาษาอังกฤษแตกฉานกันทั้งประเทศเหมือนสิงคโปร์ มาเลเซียหรือฟิลิปปินส์  ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยจนกว่าเขา  และการที่ญี่ปุ่นที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศพูดแต่ญี่ปุ่นเขียนแต่ญี่ปุ่น  ก็ไม่ได้ทำให้เขากลายเป็นประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจด้อยกว่าประเทศอังกฤษที่พูดภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เกิด  เนื่องจากคนญี่ปุ่นมีโอกาสอ่านหนังสือภาษาญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่อง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่คนอังกฤษอเมริกันชั้นเซียนเขียนขึ้นมาต่างหาก

อาเซียนก่อเกิดเพื่อมาห่อหุ้มความขัดแย้ง

องค์การระหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิกที่มีขนาดใหญ่และเป็นที่รู้จักกันดีก็คือองค์การสหประชาชาติซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ ครอบคลุมรัฐอธิปไตยเกือบทุกรัฐบนโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก ระบบสหประชาชาติอยู่บนพื้นฐานของ 5 องค์กรหลัก ได้แก่: สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีองค์กรอื่น ๆ อีกเช่น องค์การอนามัยโลก ยูเนสโก และยูนิเซฟ เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มักเป็นที่รู้จักและปรากฏตัวต่อสาธารณชน คือ เลขาธิการสหประชาชาติ ปัจจุบันผู้ดำรงตำแหน่งนี้ คือ นายบัน คี มุน ชาวเกาหลีใต้ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2550 (ต่อจากนายโคฟี อันนัน ชาวกานา)  และประเทศสมาชิกสหประชาชาติยังได้มอบความไว้วางใจให้นายบัน คี มุน ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สองเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 สิ้นสุดปี 2559 อีกด้วย 

สหประชาชาติ (อังกฤษ: United Nations; ตัวย่อ: UN) หรือ องค์การสหประชาชาติ (ตัวย่อ: UNO) เป็นองค์การระหว่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดร่วมมือกันในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ความมั่นคงระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิทธิมนุษยชน และการบรรลุสันติภาพโลก สหประชาชาติถูกก่อตั้งขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงในปี พ.ศ. 2488 เพื่อแทนที่สันนิบาตชาติ ในการยับยั้งสงครามระหว่างประเทศ และเพื่อเป็นเวทีสำหรับการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาท สหประชาชาติมีองค์การย่อย ๆ จำนวนมากเพื่อดำเนินการตามภารกิจ แต่สำหรับองค์กรที่ตั้งใจจะกล่าวถึงในที่นี้คือ ASEAN หรือ Association of the South East Asian Nations

การพูดถึงเรื่องสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนในวันนี้ต้องถือว่าได้จังหวะเวลาที่เหมาะสมยิ่ง เพราะล่วงเข้าปีนี้แล้วที่พวกเราจะเฉลิมฉลองปีที่ 45 ของการก่อตั้ง ASEAN ที่วันก่อตั้งจริงคือวันที่ 8 สิงหาคม 2510 (1967)  และพวกเราในประเทศอาเซียนจะยึดถือให้วันที่ 8 สิงหาคม เป็นวันอาเซียนหรือ ASEAN DAY

หากจะกล่าวว่า ASEAN ไม่ใหม่แล้วสำหรับพวกเราก็คงไม่ผิดนัก และบางท่านอาจจะพอทราบอยู่ก่อนว่าได้มีการบรรยายหรือบทความหรือสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ มากมายที่ให้ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน

45
ปี ของสมาคมอาเซียนฟังดูมันนานมาก แต่หลายคนอาจแปลกใจว่าจวบจนถึงวันนี้ อาเซียนยังคงอยู่ในขั้นตอนของการรวมตัว หรือ integration process อยู่ และหลายฝ่ายอาจมองว่าอาเซียนไม่ก้าวหน้าไปสักเท่าไหร่ ซึ่งในความเป็นจริง อาเซียนเริ่มเมื่อ 45 ปีก่อนในบรรยากาศที่มีความแตกต่างกันทางอุดมการณ์ หรือแม้แต่บางประเทศก็ยังขัดแย้งสู้รบกันด้วยซ้ำ บ้างก็ว่าการที่อาเซียนไปอย่างเชื่องช้าคงสะท้อนความจริงสำคัญข้อหนึ่งด้วยก็คือ อาเซียนมีความหลากหลายหรือ diversity ทั้งเชื้อชาติ วัฒนธรรมและศาสนา ดังเช่น Indonesia, Malaysia, Brunei ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ขณะที่ไทย ลาว พม่า กัมพูชา และเวียตนามคนส่วนใหญ่เป็นพุทธ  ส่วนฟิลิปปินส์ก็เป็นคริสต์  นอกจากนี้ เชื้อชาติวัฒนธรรมที่ต่างกันทำให้ภาษาพูดก็ต่างกัน และที่สำคัญสุดก็คือ ประวัติการสร้างชาติก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ประเทศตะวันตกได้วิพากษ์วิจารณ์อาเซียนว่าอ่อนในเรื่องสิทธิมนุษยชนและการยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศถึงกับมองว่าอาเซียนเป็นได้แค่ที่สนทนาพูดคุย แต่พอเรื่องลงมือทำแล้วมีน้อยมาก ( talk shop or big on words but small on action) แต่สำหรับพวกเราที่เป็นคนอาเซียน เรา เห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์อย่างนั้นสะท้อนว่าเขาคงไม่เข้าใจอาเซียนอย่างถ่อง แท้หรืออาจด้วยคนเหล่านั้นมีภูมิหลังประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างจำกัด

นับแต่เริ่มก่อตั้งอาเซียนเมื่อปี 2510 เรื่อยมาจนถึงวันนี้  อาเซียนซึ่งมีประชากรเกือบ 600 ล้านคน  ก็มีลักษณะเด่นเฉพาะแล้วคือ ประเทศสมาชิกจะยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน แต่ประเด็นนี้เริ่มสั่นคลอนไม่มั่นคงเสียทีเดียว เมื่อมีกระแสกดดันมากขึ้นในกรณีของพม่า และการที่อาเซียนต้องปฏิบัติตามหลายอย่างที่ระบุอยู่ในกฏบัตรของ ASEAN เองโดยเฉพาะเรื่องทางด้านการเคารพสิทธิมนุษยชน และยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  ทำให้ทุกประเทศสมาชิกต้องระลึกถึงและหาทางไปสู่สิ่งนี้

ที่สำคัญยิ่งยวดตามสถานการณ์ก็คือ  ประเทศตะวันตกต่างต้องการให้อาเซียน เป็นกลุ่มต่อต้านการก่อการร้าย ส่วนจีนต้องการมีอิทธิพลในอาเซียนเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ขณะที่ญี่ปุ่นต้องการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แต่ทุกประเทศเห็นเหมือนกันอยู่อย่างคือต้องการให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นเขตสันติภาพ เพราะดินแดนแห่งนี้เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อไปสู่ส่วนอื่นของโลก และเป็นจุดที่มีการสัญจรไปมาอย่างมากมาย หากเกิดความขัดแย้งวุ่นวายย่อมไม่เกื้อกูลต่อการสัญจรไปมาอย่างแน่นอน

นักวิชาการหรือนักวิเคราะห์ติดตามเรื่องอาเซียนเชื่อว่า อาเซียนก่อตั้งขึ้นเพราะสงครามในเวียตนามและภัยคอมมิวนิสต์ ซึ่งถูกแค่บางส่วน แต่ถ้าให้เห็นชัดว่าตั้งขึ้นด้วยเรื่องอะไร ต้องย้อนดูพัฒนาการความสัมพันธ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีเรื่องที่พูดกันมากอยู่ 3 เรื่อง คือชาตินิยม (nationalism) การปลดปล่อยจากอาณานิคม (decolonization) และสงครามเย็น (cold war) ซึ่งทั้ง 3 เรื่องทำให้ภูมิภาคนี้เกิดการแข่งขัน มีความขัดแย้งโดยเฉพาะระหว่างประเทศที่มีอุดมการณ์แตกต่างกัน โดยกลุ่มหนึ่งอยู่ใต้อิทธิพลสหรัฐฯ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งอยู่ใต้อิทธิพลจีน-โซเวียต

การพ่ายแพ้ที่เดียนเบียนฟู หรือ Fall of Dien Bien Phu ในปี 2497 ของฝรั่งเศส  ทำให้สหรัฐฯ หันมาก่อตั้งเขตความมั่นคงร่วมในรูปของกลุ่มซีโต้ หรือ The South East Asian Treaty Organization or SEATO ซึ่ง SEATO เวลานั้นประกอบด้วย US, Britain, Australia, New Zealand, France, Pakistan, the Philippines และประเทศไทย แต่ SEATO ไม่สามารถหยุดการต่อสู้ในอินโดจีน คือใน Laos, Cambodia และ Vietnam ได้ สภาวะสงครามเย็นมีความน่ากลัวมากในห้วงนั้น

สงครามเย็นได้กระจายตามทฤษฏี Domino ถึงกับ US ส่งทหารเข้าไปในเวียตนามถึง 500,000 นายในปี 2500 แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะสงครามเวียตนามไปได้  ด้วยเหตุนี้ ประเทศในภูมิภาคในเวลาต่อมาจึงไม่เชื่อเรื่องการใช้กำลัง และหวนกลับมามองดูนโยบายการต่างประเทศของตนใหม่ เพื่อหลบ เพื่อเลี่ยง เพื่อไม่เกี่ยวข้อง เพื่อสันติภาพ และเพื่อความผาสุกซึ่งในขณะที่กำลังคิดกันอยู่นั้น ในปี 2500 นี้เองที่มาเลเซียก็ได้รับเอกราชจากการปกครองของอังกฤษ ส่วนสิงคโปร์ยังอยู่ในส่วนหนึ่งของการรวมเข้าเป็น Malaya อย่างไรก็ดี ช่วงนี้เองที่เริ่มมีความตึงเครียดและทำให้ผู้นำมาเลเซียคือนายกรัฐมนตรีตนกู อับดุลเราะมัน (Abdul Rahman) ได้เสนอตั้งสมาคมอาสา หรือ ASA (Association of Southeast Asia) ขึ้นในปี 2504 เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และแท้จริงก็เพื่อจัดการปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองความมั่นคงด้วย

ASA
ประกอบด้วยมาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ก็อยู่ร่วมกันได้ไม่นานแล้วก็ไปไม่รอด เมื่อมามีเรื่องการก่อตั้งสหพันธรัฐมาเลเซีย (Federation of Malaysia) ปี 2506 ซึ่งประเทศอินโดนีเซียมอง ASA ว่าเป็นพันธมิตรกับตะวันตกหรือ  alligned with the West โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศใหญ่ และมีเขตน่านน้ำกว้างใหญ่ เพิ่งเป็นเอกราชจาก Dutch และการยึดครองของญี่ปุ่น จึงไม่ชอบอิทธิพลของเจ้าอาณานิคม เพราะเกรงจะมีภัยถึงตัว อินโดนีเซียจึงมอง ASA เป็นภัยคุกคาม แล้วการเผชิญหน้าก็เกิดขึ้นเนื่องจากการก่อตั้ง Federation of Malaysia ซึ่งได้ครอบหรือมีความจงใจแอบแฝงที่จะรวมหลายส่วนบนเกาะ Borneo เข้าไว้  กล่าวคือบนเกาะ Borneo ส่วนใหญ่สุดด้านล่างคือ Kalimantan เป็นจังหวัดใหญ่หนึ่งของอินโดนีเซีย ส่วนตอนบนอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษซึ่งแยกได้เป็นสามพื้นที่คือที่ที่เป็น Sarawak, British North Borneo or Sabah และ Brunei โดยปรากฏว่าหลายแห่งไม่ยอมรวมอยู่ใน Federation of Malaysia โดย Brunei ไม่สบายใจ และขออยู่ใต้การปกครองของอังกฤษต่อไป ขณะที่Sarawak และ Sabah ได้กลายเป็นจุดเกิดปัญหาขัดแย้งเนื่องจากฟิลิปปินส์ ไม่พอใจเพราะถือว่า หลายส่วนในเขตพื้นที่ Sabah เป็นของฟิลิปปินส์ ส่วนอินโดนีเซีย ไม่พอใจเพราะเห็นว่าการตั้ง Federation รวมดินแดนเหล่านี้ทำให้อิทธิพลของอังกฤษคงอยู่ และเหมือนมาเลเซียทำให้อังกฤษ จึงเกิดการเผชิญหน้ากับมาเลเ.ซียหรือที่รู้จักกันว่า confrontasi ในช่วงปี 2506-2508

สถานการณ์เวลานั้นตึงเครียดมาก มีการปะทะกันตามพรมแดน Kalimantan กับเขตพื้นที่ Salawak และยังขยายวงรุนแรงไปยัง Singapore-Malaysia Peninsula ด้วย การสู้รบดำเนินไปเป็นเวลาประมาณ 4 ปี และแม้อินโดนีเซียอมเลิกการเผชิญหน้า เพราะผู้นำใหม่อย่างประธานาธิบดี Suharto มาแทนประธานาธิบดี Sukarno แต่ความรู้สึกไม่วางใจต่อกันมีมาก และลงลึก ขณะที่ฟิลิปปินส์แม้ไม่สามารถขัดขวางการตั้งสหพันธ์ที่รวม Sabah แต่ในใจก็มีปมเคือง ๆ เกิดกับมาเลเซีย ส่วน Singapore เองก็อยู่ใต้มาเลเซียอย่างอึดอัดแล้วที่สุดถูกขับออกไปเป็นเอกราชในปี 2508 เนื่องจากรู้สึกถูกกดและครอบงำโดยมาเลเซีย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้นำประเทศในอาณาบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มองหาทางออกว่าต้องมีการรวมกลุ่มกันใหม่ เพื่อลดความชิงชัง ลดการขัดแย้ง ลดการเผชิญหน้า แล้วค่อย ๆ ร่วมมือกันในเรื่องอื่น ๆ เพราะเวลานั้นความขัดแย้งกันเป็นประเด็นสำคัญ ประกอบกับสถานการณ์สู้รบในอินโดจีนมีความรุนแรงมากขึ้น ๆ จนในที่สุด ในปี 2510 จึงได้มีการประกาศสิ่งที่เรียกว่าปฏิญญากรุงเทพฯ หรือ Bangkok Declaration ก่อตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนขึ้น โดยการร่วมเจตนารมย์ของไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์

ผู้นำขณะนั้น ต้องการหาทางผูกมิตรกันเพราะทราบดีว่าเผชิญหน้าขัดแย้งเสียหายมาก ดังนั้น การรวมกลุ่มก็คือการสร้างสมาคมให้ได้พบกัน พูดจากัน เห็นหน้ากัน โดยมีการก่อตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ มากมายในอาเซียนในช่วงแรก ๆ ไม่ว่าจะในด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเกษตร การธนาคารและการคลัง แล้วยังมีคณะกรรมการย่อย ๆ ตลอดจน workshop อีกมากมาย ประชุมกันทุกวันบางวันหลายเวลา หรือปีหนึ่งประชุมกันถึง 400 กว่าวัน แต่ก็รู้สึกกันอยู่ว่าไม่ค่อยมีความคืบหน้า แต่ประโยชน์ที่ได้ก็คือการได้พบปะเจอกัน ทำให้รู้จัก และทำให้ได้พูดคุย เมื่อมีอะไรเริ่มก่อเกิดในใจที่จะทำให้เข้าใจผิดหรือขัดแย้งกันก็จะหาทางคลี่คลายกันเสียแต่ต้นมือ นี่เป็นเรื่องหลักในช่วงแรก ๆ ของการก่อตั้งอาเซียน

ประโยชน์ของการรวมตัวอันหนึ่งคือสิ่งที่มีต่อมหาอำนาจในภูมิภาค เนื่องจากการรวมตัวกันของอาเซียนเพื่อมิให้ถูกโดดเดี่ยว ด้วยช่วงนั้นมีสงครามเวียตนามมาบีบใต้ภาวะสงครามเย็น และเพื่อไม่ให้เข้ายุ่งกับสงครามเย็น อาเซียนจึงได้จัดตั้ง Zone of Peace, Freedom and Neutrality ในปี 2514 และเพื่อประกันความปลอดภัย อาเซียนจึงเห็นความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาแล้ว ขณะเดียวกันก็เพื่อให้ประเทศพัฒนาแล้วเป็นเกราะหรือหลักประกันความมั่นคงของอาเซียนด้วย อาเซียนจึงเริ่มมีความสัมพันธ์กับประเทศที่สาม หรือ Dialogue Partners โดยเริ่มจากกับญี่ปุ่น กับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ประชาคมยุโรป (European Community) ตอนหลังก็มีกับ UNDP/Escap กับสหรัฐฯ แคนาดา และยังติดต่อกับภูมิภาคอื่นเช่น GCC กลุ่มประเทศในแปซิฟิค และอเมริกาใต้  และที่มีทีหลังเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็คือการเพิ่ม Dialogue Partners อย่าง จีน รัสเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย

ในรอบสี่สิบห้าปีของอาเซียนนั้น อาเซียนได้ก่อเกิดกลไกที่ถือเป็นสถาปัตยกรรมทางการทูตอันยิ่งใหญ่ไว้หลายอย่าง ซึ่งที่โดดเด่นสุดน่าจะได้แก่องค์กรเพื่อการชุมนุมหรือพูดคุยกันของภูมิภาคเอเชีย หรือ Asian Regional Forum หรือ ARF. ซึ่งเป็นองค์กรการประชุม (forum) ที่ รวมเอามิตรและศัตรูทั้งในอดีตและปัจจุบันหรือที่บาดหมางกันมาก่อนมานั่งพบปะ พูดคุยกันเพื่อสร้างความเข้าใจต่อกันให้ถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ซึ่งหลายฝ่ายไม่เคยคาดคิดกันมาก่อนว่า ARF สามารถเอาประเทศอย่างจีนมาเจอญี่ปุ่น จีนมาเจออินเดีย อินเดียมาเจอปากีสถาน หรือสหรัฐฯ มาเจอเกาหลีเหนือเพื่อพูดคุยกันในเรื่องกวนใจต่าง ๆ ที่สั่งสมมา กล่าวอีกนัยหนึ่ง ARF ก็คือองค์กรการประชุมที่มุ่งเกิดการพบปะหารือเพื่อร่วมสร้างความเชื่อมั่นต่อกันและกันภายใต้แนวคิดว่าด้วยการทูตป้องกัน หรือ preventive diplomacy

ARF
ประกอบด้วยประเทศที่เข้าร่วม (participants) รวม 27 ประเทศ ได้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนสิบประเทศ รวมทั้ง China, North Korea, South Korea, Japan, Mongolia, Australia, New Zealand, US, Canada, EU, Russia, Timor-Leste, Papua-New Guinea, India, Pakistan, Bangladesh, and Sri Lanka และที่ผ่านมา ARF ได้คุยเรื่องหนัก ๆ มามากไม่ว่าจะเป็นเรื่องการป้องกันความขัดแย้งขยายวงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทะเลจีนใต้ การต่อต้านการก่อการร้าย ปัญหาในอัฟกานิสถานตลอดจนปัญหาพม่า นอกจากนี้ ภายใต้การหารือในกรอบ ARF ยังได้มีการหารือกลุ่มทำงานในเรื่องที่ละเอียดอ่อนอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนตามที่ประเทศที่เข้าร่วมเห็นสมควรอีกด้วย

จึงอาจสรุปได้ว่า อาเซียนวันนี้มาจากภูมิหลังที่หลากหลายและมีความขัดแย้งหวั่นกลัวกันมาก่อน ทำให้ Basic Principles ที่อาเซียนชุดแรก(ห้าประเทศ) ยึดถือตอนก่อตั้งใหม่ ๆ ได้แก่ ASEAN consensus-based decision making และ ASEAN policy of non-interference in members’s affairs และวันนี้ที่อาเซียนยังยึดถืออยู่คือ Basic Principles เหล่านี้ที่แม้มีประเทศเข้าร่วมในภายหลัง (คือ Brunei เข้า 1984 หลังได้เอกราช Vietnam เข้า 1995 Laos และ Myanmar เข้า 1997 และ Cambodia เข้า 1999) โดยประเทศที่เข้าใหม่มาจากอินโดจีนซึ่งเคยอยู่ใต้อิทธิพลจีนและโซเวียต แต่เมื่อพ้นสงครามมาก็มุ่งสร้างมิตร ตอนยกร่างปฏิญญาอาเซียนที่กรุงเทพฯ เมื่อ 45 ปีก่อน  ผู้ร่างผู้ก่อตั้งได้แสดงความประสงค์รวมประเทศทุกประเทศในภูมิภาคนี้เข้าไปด้วย เพื่อมิให้ปล่อยลอยอยู่ข้างนอก เพราะจะนำความยุ่งยากให้มากกว่า ดังนั้น การอยู่รวมกันย่อมเดีกว่าและเป็นการตัดปัญหาแต่ต้นมือ หรือที่เรียกในทางการทูตว่า neutralize ภัยคุกคามเสียแต่ต้น

พัฒนาการที่น่าปิติยินดีล่าสุดสำหรับอาเซียนก็คือการได้ประกาศใช้กฏบัตรอาเซียน หรือ ASEAN Charter โดยถือเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อาเซียนเลยทีเดียว ซึ่งกฏบัตรได้รับสัตยาบันจากทุกประเทศและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 ทำให้อาเซียนมีฐานะทางกฏหมายหรือที่เรียกว่ามี legal personality or legal entity ส่วนสาระสำคัญในกฎบัตรได้ระบุถึงฐานะทางกฎหมาย  การแก้ไขความขัดแย้ง  วาง องค์กรหรือกลไกการประชุมชัดเจน ตลอดจนการกระชับเสริมบทบาทของสำนักเลขาธิการอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาโดยต่อไป จะมีการตั้งเอกอัครราชทูตจากประเทศสมาชิกอาเซียนไปประจำที่สำนักงานแห่งนี้ ในลักษณะเดียวกับองค์การสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ค การให้อำนาจแก่ตัวเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretary-General) มากขึ้นตามบทบาทที่เพิ่มขึ้น และจากฐานะใหม่ ทำให้อาเซียนเข้าดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคและต่อประชาคมระหว่างประเทศได้ถนัดมือขึ้น และที่สำคัญ จะเป็นส่วนเสริมให้การขับเคลื่อนอาเซียนไปสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี 2558 เป็นไปด้วยดีต่อไป


ต่อการก้าวเดินไปสู่ประชาคมอาเซียนนั้น อาเซียนถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการเป็นประชาคมทำให้อาเซียนเกาะกันแน่นและระดมทรัพยากรจำเป็นได้มาก ร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาทีพัฒนาแล้วได้อย่างมั่นใจ รองรับการค้าการลงทุนได้อย่างมั่นคง  และเมื่อบรรลุย่อมหมายความว่าอาเซียนจะร่ำรวยมั่งคั่งยิ่งขึ้น เวลานี้อาเซียนเป็นที่หมายตาของนานาประเทศเพราะภูมิภาคนี้มีประชากรถึง 567 ล้านคนจากสิบประเทศ และเมื่อรวมกันได้แน่นเป็นตลาดเดียว ย่อมมีพลังซื้อที่แข็งแรงและที่สุด  อาเซียนและประเทศคู่เจรจาที่เป็นมิตรทั้งหลาย ก็จะเจริญมั่งคั่งร่วมกัน อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันที่ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีทุนสำรอง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ และแม้อาเซียนจะไม่เหมือนอย่าง EU แต่อาเซียนก็รวมกันยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาเมื่อยี่สิบปีก่อนอย่างแน่นอน

ตัวอย่างวันนี้คือ  ภายใต้กรอบการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียน หรืออาฟต้าที่ไทยและกลุ่มสมาชิกอาเซียนได้มีการปรับลดภาษีเหลือ 0% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมา นั้น  มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มอาเซียนเติบโตอย่างต่อเนื่อง  ทำให้เชื่อว่าภายในปี 2558 การเป็นประชาคมอาเซียนจะเกิดขึ้น  จะมีผลให้การค้าระหว่างกันมีความสะดวกรวดเร็ว  ที่สำคัญ  ประชากรอาเซียนถึงเกือบ 600 ล้านคนจะเป็นฐานการผลิตเดียวที่สำคัญที่สุดของการเติบโต  ของการส่งออก  และของการค้าขายไปมาในกลุ่ม  ยิ่งผู้ประกอบการไทยได้เร่งปรับปรุงมาตรฐานสินค้าไทยทั้งด้านคุณภาพและเทคโนโลยีการผลิตทันสมัยด้วยแล้ว  สินค้าไทยย่อมเป็นที่ต้องการของมวลสมาชิกอาเซียนยิ่งขึ้น

อนึ่ง นับแต่อาฟตามีบังคับใช้เมื่อ 1 มกราคม 2553  ทำให้ช่วงครึ่งแรกของปีนั้นไทยส่งออกไปกลุ่มอาเซียนมีมูลค่าถึง 21,681 ล้านเหรียญสหรัฐ  หรือคิดเป็น 23 % ของการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 55 % เมื่อเทียบกับห้วงเดียวกันของปีก่อน  โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปอาเซียนมากที่สุดคือ  รถยนต์  คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ  เครื่องจักรกล  และสินค้าการเกษตร  ซึ่งสิ่งที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างด้านเดียว  และยังมีอีกมากที่เราจะได้สนทนากัน  ด้วยเรื่องอาเซียนนับเป็นเรื่องที่สาธารณชนพึงติดตามโดยใกล้ชิดโดยเฉพาะต่อพัฒนาการของก้าวสู่ประชาคมอาเซียนต่อ ๆ ไป