Saturday, November 3, 2012

อาเซียนก่อเกิดเพื่อมาห่อหุ้มความขัดแย้ง

องค์การระหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิกที่มีขนาดใหญ่และเป็นที่รู้จักกันดีก็คือองค์การสหประชาชาติซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ ครอบคลุมรัฐอธิปไตยเกือบทุกรัฐบนโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก ระบบสหประชาชาติอยู่บนพื้นฐานของ 5 องค์กรหลัก ได้แก่: สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีองค์กรอื่น ๆ อีกเช่น องค์การอนามัยโลก ยูเนสโก และยูนิเซฟ เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มักเป็นที่รู้จักและปรากฏตัวต่อสาธารณชน คือ เลขาธิการสหประชาชาติ ปัจจุบันผู้ดำรงตำแหน่งนี้ คือ นายบัน คี มุน ชาวเกาหลีใต้ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2550 (ต่อจากนายโคฟี อันนัน ชาวกานา)  และประเทศสมาชิกสหประชาชาติยังได้มอบความไว้วางใจให้นายบัน คี มุน ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สองเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 สิ้นสุดปี 2559 อีกด้วย 

สหประชาชาติ (อังกฤษ: United Nations; ตัวย่อ: UN) หรือ องค์การสหประชาชาติ (ตัวย่อ: UNO) เป็นองค์การระหว่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดร่วมมือกันในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ความมั่นคงระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิทธิมนุษยชน และการบรรลุสันติภาพโลก สหประชาชาติถูกก่อตั้งขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงในปี พ.ศ. 2488 เพื่อแทนที่สันนิบาตชาติ ในการยับยั้งสงครามระหว่างประเทศ และเพื่อเป็นเวทีสำหรับการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาท สหประชาชาติมีองค์การย่อย ๆ จำนวนมากเพื่อดำเนินการตามภารกิจ แต่สำหรับองค์กรที่ตั้งใจจะกล่าวถึงในที่นี้คือ ASEAN หรือ Association of the South East Asian Nations

การพูดถึงเรื่องสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนในวันนี้ต้องถือว่าได้จังหวะเวลาที่เหมาะสมยิ่ง เพราะล่วงเข้าปีนี้แล้วที่พวกเราจะเฉลิมฉลองปีที่ 45 ของการก่อตั้ง ASEAN ที่วันก่อตั้งจริงคือวันที่ 8 สิงหาคม 2510 (1967)  และพวกเราในประเทศอาเซียนจะยึดถือให้วันที่ 8 สิงหาคม เป็นวันอาเซียนหรือ ASEAN DAY

หากจะกล่าวว่า ASEAN ไม่ใหม่แล้วสำหรับพวกเราก็คงไม่ผิดนัก และบางท่านอาจจะพอทราบอยู่ก่อนว่าได้มีการบรรยายหรือบทความหรือสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ มากมายที่ให้ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน

45
ปี ของสมาคมอาเซียนฟังดูมันนานมาก แต่หลายคนอาจแปลกใจว่าจวบจนถึงวันนี้ อาเซียนยังคงอยู่ในขั้นตอนของการรวมตัว หรือ integration process อยู่ และหลายฝ่ายอาจมองว่าอาเซียนไม่ก้าวหน้าไปสักเท่าไหร่ ซึ่งในความเป็นจริง อาเซียนเริ่มเมื่อ 45 ปีก่อนในบรรยากาศที่มีความแตกต่างกันทางอุดมการณ์ หรือแม้แต่บางประเทศก็ยังขัดแย้งสู้รบกันด้วยซ้ำ บ้างก็ว่าการที่อาเซียนไปอย่างเชื่องช้าคงสะท้อนความจริงสำคัญข้อหนึ่งด้วยก็คือ อาเซียนมีความหลากหลายหรือ diversity ทั้งเชื้อชาติ วัฒนธรรมและศาสนา ดังเช่น Indonesia, Malaysia, Brunei ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ขณะที่ไทย ลาว พม่า กัมพูชา และเวียตนามคนส่วนใหญ่เป็นพุทธ  ส่วนฟิลิปปินส์ก็เป็นคริสต์  นอกจากนี้ เชื้อชาติวัฒนธรรมที่ต่างกันทำให้ภาษาพูดก็ต่างกัน และที่สำคัญสุดก็คือ ประวัติการสร้างชาติก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ประเทศตะวันตกได้วิพากษ์วิจารณ์อาเซียนว่าอ่อนในเรื่องสิทธิมนุษยชนและการยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศถึงกับมองว่าอาเซียนเป็นได้แค่ที่สนทนาพูดคุย แต่พอเรื่องลงมือทำแล้วมีน้อยมาก ( talk shop or big on words but small on action) แต่สำหรับพวกเราที่เป็นคนอาเซียน เรา เห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์อย่างนั้นสะท้อนว่าเขาคงไม่เข้าใจอาเซียนอย่างถ่อง แท้หรืออาจด้วยคนเหล่านั้นมีภูมิหลังประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างจำกัด

นับแต่เริ่มก่อตั้งอาเซียนเมื่อปี 2510 เรื่อยมาจนถึงวันนี้  อาเซียนซึ่งมีประชากรเกือบ 600 ล้านคน  ก็มีลักษณะเด่นเฉพาะแล้วคือ ประเทศสมาชิกจะยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน แต่ประเด็นนี้เริ่มสั่นคลอนไม่มั่นคงเสียทีเดียว เมื่อมีกระแสกดดันมากขึ้นในกรณีของพม่า และการที่อาเซียนต้องปฏิบัติตามหลายอย่างที่ระบุอยู่ในกฏบัตรของ ASEAN เองโดยเฉพาะเรื่องทางด้านการเคารพสิทธิมนุษยชน และยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  ทำให้ทุกประเทศสมาชิกต้องระลึกถึงและหาทางไปสู่สิ่งนี้

ที่สำคัญยิ่งยวดตามสถานการณ์ก็คือ  ประเทศตะวันตกต่างต้องการให้อาเซียน เป็นกลุ่มต่อต้านการก่อการร้าย ส่วนจีนต้องการมีอิทธิพลในอาเซียนเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ขณะที่ญี่ปุ่นต้องการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แต่ทุกประเทศเห็นเหมือนกันอยู่อย่างคือต้องการให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นเขตสันติภาพ เพราะดินแดนแห่งนี้เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อไปสู่ส่วนอื่นของโลก และเป็นจุดที่มีการสัญจรไปมาอย่างมากมาย หากเกิดความขัดแย้งวุ่นวายย่อมไม่เกื้อกูลต่อการสัญจรไปมาอย่างแน่นอน

นักวิชาการหรือนักวิเคราะห์ติดตามเรื่องอาเซียนเชื่อว่า อาเซียนก่อตั้งขึ้นเพราะสงครามในเวียตนามและภัยคอมมิวนิสต์ ซึ่งถูกแค่บางส่วน แต่ถ้าให้เห็นชัดว่าตั้งขึ้นด้วยเรื่องอะไร ต้องย้อนดูพัฒนาการความสัมพันธ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีเรื่องที่พูดกันมากอยู่ 3 เรื่อง คือชาตินิยม (nationalism) การปลดปล่อยจากอาณานิคม (decolonization) และสงครามเย็น (cold war) ซึ่งทั้ง 3 เรื่องทำให้ภูมิภาคนี้เกิดการแข่งขัน มีความขัดแย้งโดยเฉพาะระหว่างประเทศที่มีอุดมการณ์แตกต่างกัน โดยกลุ่มหนึ่งอยู่ใต้อิทธิพลสหรัฐฯ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งอยู่ใต้อิทธิพลจีน-โซเวียต

การพ่ายแพ้ที่เดียนเบียนฟู หรือ Fall of Dien Bien Phu ในปี 2497 ของฝรั่งเศส  ทำให้สหรัฐฯ หันมาก่อตั้งเขตความมั่นคงร่วมในรูปของกลุ่มซีโต้ หรือ The South East Asian Treaty Organization or SEATO ซึ่ง SEATO เวลานั้นประกอบด้วย US, Britain, Australia, New Zealand, France, Pakistan, the Philippines และประเทศไทย แต่ SEATO ไม่สามารถหยุดการต่อสู้ในอินโดจีน คือใน Laos, Cambodia และ Vietnam ได้ สภาวะสงครามเย็นมีความน่ากลัวมากในห้วงนั้น

สงครามเย็นได้กระจายตามทฤษฏี Domino ถึงกับ US ส่งทหารเข้าไปในเวียตนามถึง 500,000 นายในปี 2500 แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะสงครามเวียตนามไปได้  ด้วยเหตุนี้ ประเทศในภูมิภาคในเวลาต่อมาจึงไม่เชื่อเรื่องการใช้กำลัง และหวนกลับมามองดูนโยบายการต่างประเทศของตนใหม่ เพื่อหลบ เพื่อเลี่ยง เพื่อไม่เกี่ยวข้อง เพื่อสันติภาพ และเพื่อความผาสุกซึ่งในขณะที่กำลังคิดกันอยู่นั้น ในปี 2500 นี้เองที่มาเลเซียก็ได้รับเอกราชจากการปกครองของอังกฤษ ส่วนสิงคโปร์ยังอยู่ในส่วนหนึ่งของการรวมเข้าเป็น Malaya อย่างไรก็ดี ช่วงนี้เองที่เริ่มมีความตึงเครียดและทำให้ผู้นำมาเลเซียคือนายกรัฐมนตรีตนกู อับดุลเราะมัน (Abdul Rahman) ได้เสนอตั้งสมาคมอาสา หรือ ASA (Association of Southeast Asia) ขึ้นในปี 2504 เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และแท้จริงก็เพื่อจัดการปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองความมั่นคงด้วย

ASA
ประกอบด้วยมาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ก็อยู่ร่วมกันได้ไม่นานแล้วก็ไปไม่รอด เมื่อมามีเรื่องการก่อตั้งสหพันธรัฐมาเลเซีย (Federation of Malaysia) ปี 2506 ซึ่งประเทศอินโดนีเซียมอง ASA ว่าเป็นพันธมิตรกับตะวันตกหรือ  alligned with the West โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศใหญ่ และมีเขตน่านน้ำกว้างใหญ่ เพิ่งเป็นเอกราชจาก Dutch และการยึดครองของญี่ปุ่น จึงไม่ชอบอิทธิพลของเจ้าอาณานิคม เพราะเกรงจะมีภัยถึงตัว อินโดนีเซียจึงมอง ASA เป็นภัยคุกคาม แล้วการเผชิญหน้าก็เกิดขึ้นเนื่องจากการก่อตั้ง Federation of Malaysia ซึ่งได้ครอบหรือมีความจงใจแอบแฝงที่จะรวมหลายส่วนบนเกาะ Borneo เข้าไว้  กล่าวคือบนเกาะ Borneo ส่วนใหญ่สุดด้านล่างคือ Kalimantan เป็นจังหวัดใหญ่หนึ่งของอินโดนีเซีย ส่วนตอนบนอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษซึ่งแยกได้เป็นสามพื้นที่คือที่ที่เป็น Sarawak, British North Borneo or Sabah และ Brunei โดยปรากฏว่าหลายแห่งไม่ยอมรวมอยู่ใน Federation of Malaysia โดย Brunei ไม่สบายใจ และขออยู่ใต้การปกครองของอังกฤษต่อไป ขณะที่Sarawak และ Sabah ได้กลายเป็นจุดเกิดปัญหาขัดแย้งเนื่องจากฟิลิปปินส์ ไม่พอใจเพราะถือว่า หลายส่วนในเขตพื้นที่ Sabah เป็นของฟิลิปปินส์ ส่วนอินโดนีเซีย ไม่พอใจเพราะเห็นว่าการตั้ง Federation รวมดินแดนเหล่านี้ทำให้อิทธิพลของอังกฤษคงอยู่ และเหมือนมาเลเซียทำให้อังกฤษ จึงเกิดการเผชิญหน้ากับมาเลเ.ซียหรือที่รู้จักกันว่า confrontasi ในช่วงปี 2506-2508

สถานการณ์เวลานั้นตึงเครียดมาก มีการปะทะกันตามพรมแดน Kalimantan กับเขตพื้นที่ Salawak และยังขยายวงรุนแรงไปยัง Singapore-Malaysia Peninsula ด้วย การสู้รบดำเนินไปเป็นเวลาประมาณ 4 ปี และแม้อินโดนีเซียอมเลิกการเผชิญหน้า เพราะผู้นำใหม่อย่างประธานาธิบดี Suharto มาแทนประธานาธิบดี Sukarno แต่ความรู้สึกไม่วางใจต่อกันมีมาก และลงลึก ขณะที่ฟิลิปปินส์แม้ไม่สามารถขัดขวางการตั้งสหพันธ์ที่รวม Sabah แต่ในใจก็มีปมเคือง ๆ เกิดกับมาเลเซีย ส่วน Singapore เองก็อยู่ใต้มาเลเซียอย่างอึดอัดแล้วที่สุดถูกขับออกไปเป็นเอกราชในปี 2508 เนื่องจากรู้สึกถูกกดและครอบงำโดยมาเลเซีย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้นำประเทศในอาณาบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มองหาทางออกว่าต้องมีการรวมกลุ่มกันใหม่ เพื่อลดความชิงชัง ลดการขัดแย้ง ลดการเผชิญหน้า แล้วค่อย ๆ ร่วมมือกันในเรื่องอื่น ๆ เพราะเวลานั้นความขัดแย้งกันเป็นประเด็นสำคัญ ประกอบกับสถานการณ์สู้รบในอินโดจีนมีความรุนแรงมากขึ้น ๆ จนในที่สุด ในปี 2510 จึงได้มีการประกาศสิ่งที่เรียกว่าปฏิญญากรุงเทพฯ หรือ Bangkok Declaration ก่อตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนขึ้น โดยการร่วมเจตนารมย์ของไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์

ผู้นำขณะนั้น ต้องการหาทางผูกมิตรกันเพราะทราบดีว่าเผชิญหน้าขัดแย้งเสียหายมาก ดังนั้น การรวมกลุ่มก็คือการสร้างสมาคมให้ได้พบกัน พูดจากัน เห็นหน้ากัน โดยมีการก่อตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ มากมายในอาเซียนในช่วงแรก ๆ ไม่ว่าจะในด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเกษตร การธนาคารและการคลัง แล้วยังมีคณะกรรมการย่อย ๆ ตลอดจน workshop อีกมากมาย ประชุมกันทุกวันบางวันหลายเวลา หรือปีหนึ่งประชุมกันถึง 400 กว่าวัน แต่ก็รู้สึกกันอยู่ว่าไม่ค่อยมีความคืบหน้า แต่ประโยชน์ที่ได้ก็คือการได้พบปะเจอกัน ทำให้รู้จัก และทำให้ได้พูดคุย เมื่อมีอะไรเริ่มก่อเกิดในใจที่จะทำให้เข้าใจผิดหรือขัดแย้งกันก็จะหาทางคลี่คลายกันเสียแต่ต้นมือ นี่เป็นเรื่องหลักในช่วงแรก ๆ ของการก่อตั้งอาเซียน

ประโยชน์ของการรวมตัวอันหนึ่งคือสิ่งที่มีต่อมหาอำนาจในภูมิภาค เนื่องจากการรวมตัวกันของอาเซียนเพื่อมิให้ถูกโดดเดี่ยว ด้วยช่วงนั้นมีสงครามเวียตนามมาบีบใต้ภาวะสงครามเย็น และเพื่อไม่ให้เข้ายุ่งกับสงครามเย็น อาเซียนจึงได้จัดตั้ง Zone of Peace, Freedom and Neutrality ในปี 2514 และเพื่อประกันความปลอดภัย อาเซียนจึงเห็นความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาแล้ว ขณะเดียวกันก็เพื่อให้ประเทศพัฒนาแล้วเป็นเกราะหรือหลักประกันความมั่นคงของอาเซียนด้วย อาเซียนจึงเริ่มมีความสัมพันธ์กับประเทศที่สาม หรือ Dialogue Partners โดยเริ่มจากกับญี่ปุ่น กับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ประชาคมยุโรป (European Community) ตอนหลังก็มีกับ UNDP/Escap กับสหรัฐฯ แคนาดา และยังติดต่อกับภูมิภาคอื่นเช่น GCC กลุ่มประเทศในแปซิฟิค และอเมริกาใต้  และที่มีทีหลังเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็คือการเพิ่ม Dialogue Partners อย่าง จีน รัสเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย

ในรอบสี่สิบห้าปีของอาเซียนนั้น อาเซียนได้ก่อเกิดกลไกที่ถือเป็นสถาปัตยกรรมทางการทูตอันยิ่งใหญ่ไว้หลายอย่าง ซึ่งที่โดดเด่นสุดน่าจะได้แก่องค์กรเพื่อการชุมนุมหรือพูดคุยกันของภูมิภาคเอเชีย หรือ Asian Regional Forum หรือ ARF. ซึ่งเป็นองค์กรการประชุม (forum) ที่ รวมเอามิตรและศัตรูทั้งในอดีตและปัจจุบันหรือที่บาดหมางกันมาก่อนมานั่งพบปะ พูดคุยกันเพื่อสร้างความเข้าใจต่อกันให้ถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ซึ่งหลายฝ่ายไม่เคยคาดคิดกันมาก่อนว่า ARF สามารถเอาประเทศอย่างจีนมาเจอญี่ปุ่น จีนมาเจออินเดีย อินเดียมาเจอปากีสถาน หรือสหรัฐฯ มาเจอเกาหลีเหนือเพื่อพูดคุยกันในเรื่องกวนใจต่าง ๆ ที่สั่งสมมา กล่าวอีกนัยหนึ่ง ARF ก็คือองค์กรการประชุมที่มุ่งเกิดการพบปะหารือเพื่อร่วมสร้างความเชื่อมั่นต่อกันและกันภายใต้แนวคิดว่าด้วยการทูตป้องกัน หรือ preventive diplomacy

ARF
ประกอบด้วยประเทศที่เข้าร่วม (participants) รวม 27 ประเทศ ได้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนสิบประเทศ รวมทั้ง China, North Korea, South Korea, Japan, Mongolia, Australia, New Zealand, US, Canada, EU, Russia, Timor-Leste, Papua-New Guinea, India, Pakistan, Bangladesh, and Sri Lanka และที่ผ่านมา ARF ได้คุยเรื่องหนัก ๆ มามากไม่ว่าจะเป็นเรื่องการป้องกันความขัดแย้งขยายวงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทะเลจีนใต้ การต่อต้านการก่อการร้าย ปัญหาในอัฟกานิสถานตลอดจนปัญหาพม่า นอกจากนี้ ภายใต้การหารือในกรอบ ARF ยังได้มีการหารือกลุ่มทำงานในเรื่องที่ละเอียดอ่อนอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนตามที่ประเทศที่เข้าร่วมเห็นสมควรอีกด้วย

จึงอาจสรุปได้ว่า อาเซียนวันนี้มาจากภูมิหลังที่หลากหลายและมีความขัดแย้งหวั่นกลัวกันมาก่อน ทำให้ Basic Principles ที่อาเซียนชุดแรก(ห้าประเทศ) ยึดถือตอนก่อตั้งใหม่ ๆ ได้แก่ ASEAN consensus-based decision making และ ASEAN policy of non-interference in members’s affairs และวันนี้ที่อาเซียนยังยึดถืออยู่คือ Basic Principles เหล่านี้ที่แม้มีประเทศเข้าร่วมในภายหลัง (คือ Brunei เข้า 1984 หลังได้เอกราช Vietnam เข้า 1995 Laos และ Myanmar เข้า 1997 และ Cambodia เข้า 1999) โดยประเทศที่เข้าใหม่มาจากอินโดจีนซึ่งเคยอยู่ใต้อิทธิพลจีนและโซเวียต แต่เมื่อพ้นสงครามมาก็มุ่งสร้างมิตร ตอนยกร่างปฏิญญาอาเซียนที่กรุงเทพฯ เมื่อ 45 ปีก่อน  ผู้ร่างผู้ก่อตั้งได้แสดงความประสงค์รวมประเทศทุกประเทศในภูมิภาคนี้เข้าไปด้วย เพื่อมิให้ปล่อยลอยอยู่ข้างนอก เพราะจะนำความยุ่งยากให้มากกว่า ดังนั้น การอยู่รวมกันย่อมเดีกว่าและเป็นการตัดปัญหาแต่ต้นมือ หรือที่เรียกในทางการทูตว่า neutralize ภัยคุกคามเสียแต่ต้น

พัฒนาการที่น่าปิติยินดีล่าสุดสำหรับอาเซียนก็คือการได้ประกาศใช้กฏบัตรอาเซียน หรือ ASEAN Charter โดยถือเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อาเซียนเลยทีเดียว ซึ่งกฏบัตรได้รับสัตยาบันจากทุกประเทศและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 ทำให้อาเซียนมีฐานะทางกฏหมายหรือที่เรียกว่ามี legal personality or legal entity ส่วนสาระสำคัญในกฎบัตรได้ระบุถึงฐานะทางกฎหมาย  การแก้ไขความขัดแย้ง  วาง องค์กรหรือกลไกการประชุมชัดเจน ตลอดจนการกระชับเสริมบทบาทของสำนักเลขาธิการอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาโดยต่อไป จะมีการตั้งเอกอัครราชทูตจากประเทศสมาชิกอาเซียนไปประจำที่สำนักงานแห่งนี้ ในลักษณะเดียวกับองค์การสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ค การให้อำนาจแก่ตัวเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretary-General) มากขึ้นตามบทบาทที่เพิ่มขึ้น และจากฐานะใหม่ ทำให้อาเซียนเข้าดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคและต่อประชาคมระหว่างประเทศได้ถนัดมือขึ้น และที่สำคัญ จะเป็นส่วนเสริมให้การขับเคลื่อนอาเซียนไปสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี 2558 เป็นไปด้วยดีต่อไป


ต่อการก้าวเดินไปสู่ประชาคมอาเซียนนั้น อาเซียนถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการเป็นประชาคมทำให้อาเซียนเกาะกันแน่นและระดมทรัพยากรจำเป็นได้มาก ร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาทีพัฒนาแล้วได้อย่างมั่นใจ รองรับการค้าการลงทุนได้อย่างมั่นคง  และเมื่อบรรลุย่อมหมายความว่าอาเซียนจะร่ำรวยมั่งคั่งยิ่งขึ้น เวลานี้อาเซียนเป็นที่หมายตาของนานาประเทศเพราะภูมิภาคนี้มีประชากรถึง 567 ล้านคนจากสิบประเทศ และเมื่อรวมกันได้แน่นเป็นตลาดเดียว ย่อมมีพลังซื้อที่แข็งแรงและที่สุด  อาเซียนและประเทศคู่เจรจาที่เป็นมิตรทั้งหลาย ก็จะเจริญมั่งคั่งร่วมกัน อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันที่ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีทุนสำรอง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ และแม้อาเซียนจะไม่เหมือนอย่าง EU แต่อาเซียนก็รวมกันยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาเมื่อยี่สิบปีก่อนอย่างแน่นอน

ตัวอย่างวันนี้คือ  ภายใต้กรอบการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียน หรืออาฟต้าที่ไทยและกลุ่มสมาชิกอาเซียนได้มีการปรับลดภาษีเหลือ 0% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมา นั้น  มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มอาเซียนเติบโตอย่างต่อเนื่อง  ทำให้เชื่อว่าภายในปี 2558 การเป็นประชาคมอาเซียนจะเกิดขึ้น  จะมีผลให้การค้าระหว่างกันมีความสะดวกรวดเร็ว  ที่สำคัญ  ประชากรอาเซียนถึงเกือบ 600 ล้านคนจะเป็นฐานการผลิตเดียวที่สำคัญที่สุดของการเติบโต  ของการส่งออก  และของการค้าขายไปมาในกลุ่ม  ยิ่งผู้ประกอบการไทยได้เร่งปรับปรุงมาตรฐานสินค้าไทยทั้งด้านคุณภาพและเทคโนโลยีการผลิตทันสมัยด้วยแล้ว  สินค้าไทยย่อมเป็นที่ต้องการของมวลสมาชิกอาเซียนยิ่งขึ้น

อนึ่ง นับแต่อาฟตามีบังคับใช้เมื่อ 1 มกราคม 2553  ทำให้ช่วงครึ่งแรกของปีนั้นไทยส่งออกไปกลุ่มอาเซียนมีมูลค่าถึง 21,681 ล้านเหรียญสหรัฐ  หรือคิดเป็น 23 % ของการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 55 % เมื่อเทียบกับห้วงเดียวกันของปีก่อน  โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปอาเซียนมากที่สุดคือ  รถยนต์  คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ  เครื่องจักรกล  และสินค้าการเกษตร  ซึ่งสิ่งที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างด้านเดียว  และยังมีอีกมากที่เราจะได้สนทนากัน  ด้วยเรื่องอาเซียนนับเป็นเรื่องที่สาธารณชนพึงติดตามโดยใกล้ชิดโดยเฉพาะต่อพัฒนาการของก้าวสู่ประชาคมอาเซียนต่อ ๆ ไป

No comments:

Post a Comment